ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำดัชนีการว่างงานและตลาดที่อยู่อาศัย อ้างอิงข้อมูลปริมาณมหาศาลจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่สะท้อนอุปสงค์-อุปทาน และจะช่วยให้การประเมินสัญญาณทางเศรษฐกิจชัดเจนกว่าฐานข้อมูลอื่นๆ ที่เคยมี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่าขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการจัดทำดัชนีด้านแรงงาน ซึ่งจะประมวลผลจากพฤติกรรมของผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในประเทศ เพื่อนำไปสร้างดัชนีชี้วัดสถานการณ์ตลาดแรงงานที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก ซึ่งไม่ได้เป็นภาพที่เข้ากับภาวะที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งต้องดิ้นรนเพื่อให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

การรวบรวมข้อมูลปริมาณมหาศาล หรือ Big Data จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ จะรวมถึงข้อมูลการค้นหาตำแหน่งงานในเว็บไซต์สมัครงานออนไลน์ เพื่อจะกำหนดดัชชีชี้วัดการจ้างงานที่ครอบคลุมไปถึงข้อมูลที่ไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ และ ธปท.จะจัดทำดัชนีชี้วัดตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลบิ๊กดาต้าจากเครือข่ายสังคมออนไลน์เช่นกัน เพื่อสะท้อนปริมาณและความต้องการในตลาดที่อยู่อาศัยที่แม่นยำ

"เราต้องการสร้างนโยบายจากหลักฐานที่มีอยู่ ซึ่งบิ๊กดาต้าจะเป็นประโยชน์มาก ไม่ใช่แค่เฉพาะนโยบายการเงิน แต่จะเป็นประโยชน์ต่อนโยบายการคลังด้วย" จาตุรงค์กล่าว พร้อมทั้งระบุว่า ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ติดตามแนวโน้มและสัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจล่วงหน้าได้ เพราะทุกวันนี้ เราใช้บิ๊กดาต้ามากขึ้นเรื่อยๆ 

ยิ่งในโลกที่มีการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และกำลังเข้ามาแทนที่ระบบงานแบบเก่า อุตสาหกรรมแบบเก่า ข้อมูลจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะนำทางในเกมนโยบาย ซึ่งธนาคารกลางอินโดนีเซียก็ดำเนินการในเรื่องนี้มาก่อนแล้วเช่นกัน เพราะเรื่องเหล่านี้จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในโลกที่ซับซ้อนและไม่แน่นอน

"ดัชนีที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน มีไม่พอที่จะตอบคำถามที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตอนนี้ หรือบางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดคำตอบที่ผิดพลาดได้ด้วย" จาตุรงค์ระบุ

การผลักดันให้ขยายฐานข้อมูลการประเมินบิ๊กดาต้าเพื่อชี้วัดภาพรวมทางเศรษฐกิจ ริเริ่มโดยนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีและจัดตั้งทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลขึ้นมาเพื่อทำงานนี้โดยเฉพาะ โดยผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธานในที่ประชุมทุกๆ 2 เดือนในการทำโครงการนำร่องข้อมูลใหม่ เพราะข้อมูลคือกุญแจสำคัญของธนาคารกลาง ในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่หลากหลาย เช่น การส่งออกที่เติบโตขึ้นในปีนี้ ในเวลาที่การค้าโลกฟื้นตัว แต่การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนในประเทศไทยยังอ่อนแรง

000_97431.jpg

ส่วนข้อมูลการว่างงานก็มีแนวโน้มซับซ้อน เพราะในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงซบเซา และตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน แต่อัตราการว่างงานของประเทศไทยกลับมีอัตราเพียง 1.2-1.3% ในปีนี้ ขณะที่ อัตราการว่างงานในอินโดนีเซียอยู่ที่ 5.5% และฟิลิปปินส์ 5.6% 

"ข้อมูลอย่างเป็นทางการ ไม่สามารถจะจับทิศทางของภาพรวมเศรษฐกิจได้ทั้งหมด เราจึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ดูแลข้อมูลขนาดใหญ่ ยิ่งในปัจจุบันคนจำนวนมากมีการจ้างงานตัวเอง หรือเป็นฟรีแลนซ์ มากขึ้น และนี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตรการว่างงานในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ" ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าว พร้อมระบุว่า บิ๊กดาต้าสามารถให้มุมมองทั้งหมด และจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ 

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายด้านการวิเคราะห์ข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของผู้กำหนดนโยบายในการเปรียบเทียบผลที่จะเกิดขึ้นเวลาที่มีการเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาจากเครดิตบูโร จึงทำให้พบว่า คนรุ่นใหม่ อายุต่ำกว่า 25 ปี และคนที่อยู่วัยเกษียณ กลับมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ หนี้เสียอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับคนวัยอื่นๆ 

ส่วนข้อมูลประเภทอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการรวิเคราะห์ เช่น ภาคการค้า มีการศึกษาพบว่า ธุรกรรมการส่งออกและนำเข้า มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นหลักในตลาดเพียงไม่กี่ราย และมีธุรกิจส่งออกสูงถึง 63% ของผู้เล่นรายใหม่ ที่เข้ามาแล้วต้องปิดตัวไปภายหลังจาก 1 ปีแรกที่ดำเนินกิจการ

ขณะที่ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า รัฐบาลทหารพยายามอย่างมากที่จะใช้บิ๊กดาต้า เพื่อปรับปรุงการกำหนดนโยบาย โดยตนมีภารกิจต้องนำข้อมูลจากหน่วยงานรัฐกว่า 200 แห่ง มาทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอล

ด้าน ดร.สันติธาร เสถียรไทย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ตลาดเกิดใหม่เอเซีย เครดิต สวิส กรุ๊ป (สิงคโปร์) ระบุว่า การวิเคราะห์บิ๊กดาต้าจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการทำนโยบายที่มีเป้าหมาย และช่วยในการประเมินนโยบายที่ผ่านๆ มาได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ด้วย 

"รัฐบาลต้องไม่มองว่าการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า เป็นเพียงการทำให้มีข้อมูลที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ต้องสร้างพื้นที่เปิดในการใช้ข้อมูลด้วย และต้องทำให้มั่นใจว่า 

ประชาชนทั่้วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลอ่อนไหวของรัฐได้ ซึ่งน่าจะช่วยในแง่เป็นส่วนเสริมสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้กำหนดนโยบายได้" ดร.สันติธารกล่าว