ไม่พบผลการค้นหา
ธปท.หนุนธุรกิจค้าขายระหว่างประเทศคล่องตัว ให้อนุญาตบริษัท กลุ่มบริษัท ที่มีคุณสมบัติตามกำหนดทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์โดยไม่ต้องแสดงใบกำกับภาษี สัญญาเงินกู้ นำร่อง 6 ราย พร้อมขยายเวลาธุรกิจที่สนใจขอรับความเห็นชอบยื่นเรื่องได้ถึง 16 พ.ย. 2561

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้เริ่มโครงการการปฏิรูปและผ่อนคลายกฎเกณฑ์การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (FX Regulations Reform) ตั้งแต่กลางปี 2560 โดยเริ่มจากเพิ่มทางเลือกซื้อขายและโอนเงินรายย่อย เพิ่มทางเลือกในการลงทุนต่างประเทศให้แก่นักลงทุนไทย ปรับลดเอกสารการโอนเงินออกนอกประเทศ ยกเลิกการกรอกแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ และเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถยื่นเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่ง

ช่วยลดขั้นตอนการเตรียมเอกสาร ลดต้นทุน และลดระยะเวลาในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของภาคเอกชนให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น (Ease of doing business)

การปฏิรูปที่สำคัญอีกด้าน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ คือ การอนุญาตให้บริษัทและกลุ่มบริษัทที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (Qualified Company) สามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการทำธุรกรรมหลายรายการ เช่น ใบกำกับสินค้า สัญญาเงินกู้หรือหลักฐานแสดงภาระอื่น ๆ ซึ่ง Qualified Company หรือ บริษัทที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จะต้องมีนโยบายการกำกับดูแล และการตรวจสอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่รัดกุมจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท

โดย ธปท. จะติดตามพฤติกรรมการทำธุรกรรมของ Qualified Company ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) แทนการพิจารณารายรายการ ซึ่งในวันนี้ ธปท. ได้ให้ความเห็นชอบให้บริษัท 5 ราย เป็น Qualified Company และให้มีศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) 1 ราย ขยายขอบเขตการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศให้ครอบคลุมสิทธิที่

Qualified Company ได้ด้วย ซึ่งจะสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้กว้างกว่าขอบเขตที่ Treasury Center ได้รับในปัจจุบัน จึงถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นมิติใหม่ของการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของภาคเอกชนไทย

ธปท. เล็งเห็นประโยชน์และความสนใจของภาคเอกชนต่อโครงการนี้ จึงขยายช่วงเวลายื่นขอความเห็นชอบออกไปจนถึงวันที่ 16 พ.ย. 2561 และปรับเปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดย ธปท. จะติดตามผลของโครงการ และจะพิจารณาขยายการผ่อนคลายดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบธุรกิจในวงที่กว้างขึ้นต่อไปด้วย

สำหรับครึ่งหลังของปี 2561 จะเข้าสู่ระยะที่สองของการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งจะมุ่งเน้นที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และบุคคลรายย่อยให้สามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์และลดเอกสารประกอบการทำธุรกรรม การรวมประเภทบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposits– FCD) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายประเภทเข้าด้วยกัน และการผ่อนคลายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยไม่ผ่านตัวแทนการลงทุน 

นอกจากนี้ ยังจะได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งในด้านคุณสมบัติและรูปแบบการให้บริการ เพื่อรองรับการให้บริการรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น และเพิ่มทางเลือกในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ซึ่ง ธปท. จะได้นำเสนอแผนการผ่อนคลายเหล่านี้ต่อกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อไป

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ภายใต้โครงการ Qualified Company เป็นกลุ่มแรก จำนวน 5 บริษัท และศูนย์บริหารเงิน 1 ราย ได้แก่ 1) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 2) บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด 3) บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด 4) บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด 5) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) 6) บริษัท มิตรผล เทรชเชอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด 

โดยการกำกับดูแล Qualified Company โดยการวิเคราะห์ความสอดคล้องของการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับแผนธุรกิจและนโยบายบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของ Qualified Company หากพบความไม่สอดคล้อง ธปท. จะมีการหารือกับบริษัท และพิจารณาทบทวนการให้ความเห็นชอบเป็น Qualified Company แก่บริษัทนั้น ๆ ตามความเหมาะสม 

สำหรับรายละเอียดการผ่อนคลายเกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทและกลุ่มบริษัทที่สามารถยื่นขอความเห็นชอบเป็น Qualified Company ต่อ ธปท. มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

(1) ผ่อนคลายคุณสมบัติของบริษัทและกลุ่มบริษัทด้านปริมาณธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารวมกัน จากไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า

(2) ยกเลิกข้อกำหนดการทำธุรกรรมที่แต่เดิมบริษัทต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อชำระสินค้าบริการและการลงทุนหรือกู้ยืมประกอบด้วย จึงจะสามารถดำเนินการได้เป็นการทำธุรกรรมเพื่อวัตถุประสงค์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ ได้แก่ ค่าสินค้าบริการ การรับเงินลงทุนหรือการลงทุนในกิจการในต่างประเทศ การให้กู้ยืมหรือกู้ยืมจากกิจการในต่างประเทศ หรือธุรกรรมอนุพันธ์ที่มีการยื่นขออนุญาตจาก ธปท. กรณีหนึ่งกรณีใดที่กล่าวมาข้างต้น

(3) ขยายระยะเวลาการยื่นขอความเห็นชอบไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 16 พ.ย. 2561 โดยบริษัทหรือกลุ่มบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสอบถามรายละเอียดและขั้นตอนการสมัครได้จากธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการยื่นขอความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป

ข่าวเกี่ยวข้อง :