ไม่พบผลการค้นหา
WWF รายงานว่าโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นในรอบ 20 ปี หลังจากที่ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่ปี 1997 โดยเป็นผลมาจากการอนุรักษ์ที่ต่อเนื่องของทางรัฐบาลกัมพูชาและWWF

มูลนิธิสัตว์ป่าโลก หรือ WWF ของกัมพูชา ร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาแถลงว่า จำนวนโลมาอิรวดี ซึ่งเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำโขงระหว่างกัมพูชาและลาวนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นในรอบ 20 ปี โดยในปี2017มีจำนวนโลมาในแม่น้ำโขงทั้งหมด 92 ตัว จาก 80 ตัวในปี 2015 ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 1997 หลังจากที่จำนวนโลมาในแม่น้ำโขงกว่า 200 ตัวลดลงเหลือเพียงแค่ 95 ตัวในปี 2007 

เส่ง เต็ก ผู้อำนวยการ WWF กัมพูชากล่าวว่า "จำนวนโลมาที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการอนุรักษ์เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ แต่จำนวนโลมาก็ยังคงอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย เนื่องจากยังมีจำนวนน้อยเพียงแค่ 92 ตัวเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าต้องมีโลมาเท่าไหร่ จึงจะลดความเสี่ยงจากการสูญพันธุ์" 

สำหรับสถานการณ์โลมาในลุ่มแม่น้ำโขงปัจจุบัน องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาตินานาชาติรายงานว่า เมื่อปีที่ผ่านมามีจำนวนโลมาตายเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2015 ที่มีโลมาตายทั้งหมด 9 ตัว อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปี 2018 มีโลมาอิรวดีเกิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 4 ตัว

ทั้งนี้ทาง WWF กล่าวว่า "การที่จำนวนโลกมาเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังและการสอดส่องดูแลในพื้นที่อนุรักษ์ที่เข้มงวดขึ้น การลดการใช้แห่ในการจับปลาและการลดการใช้สารพิษรวมไปถึงการทำประมงแบบผิดกฎหมาย" 

อย่างไรก็ตามสำหรับการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนประชากรโลมาในลุ่มแม่น้ำโขงแล้วความท้าทายของเรื่องของการทำประมงที่ผิดกฎหมายรวมไปถึงโครงการเขื่อนต่างๆที่เป็นภัยคุกคามแม่น้ำโขงยังเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง ปัจจุบันในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างกำลังมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่อยู่ใกล้กับบริเวณชายแดนกัมพูชา-ลาว ซึ่งเขื่อนดังกล่าวจะเป็นการขวางเส้นทางการว่ายของปลาในแม่น้ำโขงบริเวณชายแดนกัมพูชาและลาวในช่วงฤดูแล้ง โดยจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขงและชาวประมงในพื้นที่ชายแดน

ที่มา phnompenhpost

ข่าวที่เกี่ยวข้อง