ไม่พบผลการค้นหา
ทายาทรุ่น 5 ของตระกูล ‘หวั่งหลี’ เนรมิตร ‘ล้ง 1919’ โครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านคลองสาน ซึ่งเคยเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์การค้าไทย – จีน อายุ 100 ปี ให้กลายเป็นทุ่งนาเขียวชอุ่มกลางกรุงเทพฯ พร้อมเปิดนิทรรศการ ‘นาล้ง’ ให้ทุกเพศทุกวัยเรียนรู้ภูมิปัญญา นวัตกรรม และคุณค่าข้าวไทย
นาข้าว 5.jpgนาข้าว 4.jpgนาข้าว 1.jpg
  • ทุ่งนาเขียวชอุ่มท่ามกลางสถาปัตยกรรมหมู่อาคารแบบ ‘ซาน เหอ หยวน’

เพื่อฉลองการก้าวเข้าสู่ 100 ปี ของ ‘ล้ง 1919’ ท่าเรือประวัติศาสตร์การค้าไทย – จีน จึงเนรมิตรผืนดินท้องมังกรของตระกูล ‘หวั่งหลี’ ให้กลายเป็นทุ่งนากลางกรุงเทพฯ พร้อมกับจัดแสดง ‘นาล้ง’ นิทรรศการนำเสนอภูมิปัญญา และนวัตกรรมเกี่ยวกับข้าวรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ เหมาะกับการเรียนรู้สำหรับทุกเพศทุกวัย

ณ สุดถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ท่ามกลางสภาพอากาศเป็นใจ ทีมวอยซ์ออนไลน์เดินลัดเลาะผ่านซุ้มประตูของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ‘ล้ง 1919’ เข้ามาเรื่อยๆ ก่อนอิ่มเอมกับบรรยากาศอันรื่นรมย์ของทุ่งนาข้าวจำลองเขียวชอุ่ม ท่ามกลางสถาปัตยกรรมเก่าแก่แบบ ‘ซาน เหอ หยวน’ ของชาวจีนโบราณ ดูแล้วรู้สึกสบายตา ซึ่งจัดแสดงข้าวสายพันธุ์ต่างๆ จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย


นาข้าว 0.jpgนาข้าว 2.jpg
  • น้องกระบือไทย พริตตี้ประจำนิทรรศการ ‘นาล้ง’

ภายในแบ่งออกเป็น 3 โซนคือ ‘แปลงนา’ จากเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจัดแสดงต้นข้าวทั้งหมด 3 ระยะ คือ ระยะแตกกอ (อายุ 30-60 วัน) ระยะตั้งท้อง (อายุ 60-80 วัน) และระยออกรวง (อายุ 80-90 วัน) พร้อมประติมากรรมหุ่งฟางข้าวที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของเกษตรกร เช่น กระบืิอไทย และพระแม่โพสพ

ต่อด้วยการเปลี่ยนโกดังเก็บข้าวเป็นโซน ‘นิทรรศการ’ นำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของท่าเรือกลไฟ ‘ฮ่วย จุ่ง ล่ง’ ซึ่งพระยาพิศาลศุภผลเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี 2393 และผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายเกษตรกรไทย

ไฮไลต์อยู่ตรงพันธุ์ข้าวหายากกว่า 100 สายพันธุ์ นวัตกรรมข้าวหอมมะลิทุ่มกุลา อีกทั้งยังจำหน่ายข้าวสารราคาประหยัดกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมด้วยเสวนาดีๆจากประสบการณ์กลุ่มชาวนารุ่นใหม่ และตื่นตากับการหุงข้าวแบบดั้งเดิม

โซนสุดท้ายคือ ‘เรียนรู้การดำนาด้วยตัวเอง’ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกคนสามารถสวมรองเท้าบู๊ท ใส่งอบกันแดด และตะลุยลงดำนาจริงด้วยตนเอง โดยพี่ๆ จากเครือข่ายชาวนาไทอีสานคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ

ก่อนลงมือดำนา ก๊อบ-เฉลิมศักดิ์ พรำนัก ผู้เชี่ยวชาญการดำนา และเพาะพันธ์ุข้าวจากเครือข่ายชาวนาไทอีสาน จังหวัดศรีสะเกษ ให้ความรู้กับเราว่า ส่วนใหญ่การปลูกข้าวด้วยการดำนาจะอยู่คู่กับเกษตรอินทรีย์ แต่ชาวนาทั่วไปจะทำนาด้วยการหว่าน โดยภาคกลางหว่านนาน้ำตม (น้ำโคลน) แต่ทางภาคอีสานจะหว่านนาแห้งรอน้ำฝน


ทำนา.jpg
  • ก๊อบ-เฉลิมศักดิ์ พรำนัก ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำนา และเพาะพันธ์ุข้าวจากเครือข่ายชาวนาไทอีสาน

“การดำนาช่วยให้เกษตรกรสามารถคัดพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้ แต่เหตุผลที่มันไม่เป็นที่นิยม เพราะต้องใช้แรงงานเยอะ และเหนื่อยมาก”

ส่วนความยากของการดำนาคือ หากจับต้นกล้าแรงเกินไปจะทำให้ต้นกล้าหัก หรือตาย และถ้าปักดำลึกเกินไปอาจทำให้ข้าวแตกกอช้า หรือไม่แตกกอเลยเทคนิคการปักดำคือ ต้องจับบริเวณโคนต้นกล้า แล้วใช้นิ้วก้อยเกี่ยวต้นกล้าเอาไว้ และเวลาปักดำต้องใช้นิ้วโป้งกดลงแค่พออยู่

ด้าน ดร. ศรัณฐ์ หวั่งหลี ผู้บริหารโครงการล้ง 1919 เล่าให้ วอยซ์ออนไลน์ ฟังว่า ข้าวเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจครอบครัว เพราะตระกูลหวั่งหลีเริ่มต้นจากการค้าข้าว ก่อนเข้ามาทำธุรกิจการเงิน และการประกันภัย โดยในปี 1919 คุณทวด ‘ตัน ลิบ บ๊วย’ ซื้อที่ดินมาบริหารงาน จนกระทั่งมันกลายเป็ยศูนย์กลางการค้าข้าว

“แม้คนไทยจะคุ้นชินกับข้าวมายาวนาน แต่หลายคนอาจไม่ทราบอีโคซิสเท็มของข้าวมาก่อน จึงถือเป็นโอกาสดีช่วงหน้าฝนให้คนกรุงเทพฯ มาสัมผัสวิถีเกษตรกร แล้วคุณจะทราบว่าชาวนาต้องทำงานหนักขนาดไหนกว่าจะได้ข้าวมาทาน”

ผู้สนใจสามารถเข้าชม ‘นาล้ง’ ผืนนาจำลองกลางกรุงเทพฯ พร้อมกับเรียนรู้ภูมิปัญญา นวัตกรรม และคุณค่าข้าวไทยได้ฟรี! ระหว่างวันที่ 8 - 19 สิงหาคมนี้ ณ โครงการล้ง 1919 ถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน