ไม่พบผลการค้นหา
โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดตัว ศูนย์รักข้อ เน้นการรักษาเชิงลึกด้วยเทคโนโลยี รองรับสังคมสูงวัย ที่มาพร้อมกับปัญหาข้อเสื่อม

ในอีก 2­­–3 ปี ข้างหน้า ประชากรของประเทศไทยมากถึง 1 ใน 5 จะมีอายุเกิน 60 ปี ซึ่งกลุ่มอายุนี้ย่อมมาพร้อมกับโรคประจำตัวหลายอย่าง โดยเฉพาะอาการเสื่อมของข้อต่างๆ ตามร่างกาย เพื่อตอบสนองต่อสังคมผู้สูงอายุ โรงพยาบาลพระรามเก้า จึงเปิดศูนย์รักษ์ข้อ เพื่อให้การดูแลข้อต่อเบื้องต้น ไปจนถึงการรักษาเชิงลึก

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และผู้ที่พฤติกรรมเสี่ยงประเภทต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน มีผลทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะหลีกเลี่ยงการเดินเพราะจะมีอาการเจ็บปวดที่ข้อ ขณะเคลื่อนไหว ซึ่งอาจส่งผลให้ข้อติด หรือผิดรูปในเวลาต่อมา

ในการดูแลรักษาผู้ป่วยแม้เทคโนโลยีจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า รพ.มีความพร้อมในเรื่องของทีมแพทย์ ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเป็นอย่างดี


นพ.เสถียร.jpg
  • นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระรามเก้า

“ทรัพยากรที่สำคัญก็คือบุคลากร เรามีแพทย์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของข้อ เช่น เชี่ยวชาญการส่องกล้องไหล่ การส่องกล้องกระดูกสันหลัง หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า รวมถึงพยาบาล และเจ้าหน้าที่กายภาพที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูตนเองได้เร็วขึ้น” นายแพทย์เสถียร กล่าวถึงประสิทธิภาพของทีมแพทย์ศูนย์รักษ์ข้อ

นอกจากนั้นผู้อำนวยการของ กรรมการผู้อำนวนการของโรงพยาบาลพระรามเก้า ยังกล่าวว่าเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่ศูนย์รักษ์ข้อให้ความสำคัญ เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้การฟื้นตัวเร็วขึ้น คนไข้สามารถเดินได้ภายใน 24 ชั่วโมง และสามารถกลับบ้านได้ภายในเวลา 5 วัน


อายุไม่ใช่ปัจจัยเดียวของโรคข้อเสื่อม

ด้าน นายแพทย์พฤกษ์ ไชยกิจ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ในฐานะหัวหน้าทีมแพทย์ศูนย์รักษ์ข้อสำทับความเห็นของ นายแพทย์เสถียรว่า โรคข้อเสื่อมเกี่ยวข้องโดยตรงกับอายุที่มากขึ้น แต่ไม่ใช่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะต้องระวัง



นพ.พฤกษ์.jpg
  • นายแพทย์พฤกษ์ ไชยกิจ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ หัวหน้าทีมแพทย์ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า

“อาการที่เกี่ยวกับข้อเสื่อม ไม่ว่าจะเป็น ข้อเข่า ข้อไหล่ หรือข้อสะโพก ในวัย 30 ­– 40 ปี ก็จะเริ่มมีอาการออกมาให้เห็น เพราะความเสี่ยงไม่ได้มีแค่เรื่องอายุ อาจจะมีอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือการใช้งานที่ผิดปกติ รวมถึงโรคประจำตัวอย่างข้ออักเสบ ก็มีผลทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมได้”

หัวหน้าทีมแพทย์ศูนย์รักษ์ข้อให้ข้อมูลว่า ปัญหาข้อเข่าเสื่อมจะพบบ่อยที่สุดในคนไทย ส่วนความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคจะประกอบด้วย น้ำหนัก อายุ การใช้งาน หรือโรคประจำตัวบางอย่างเช่นเก๊าท์ หรือรูมาตอยด์

“วิธีการหลีกเลี่ยงอาการข้อเสื่อมที่ง่ายที่สุดคืออย่านั่งกับพื้น การนั่งขัดสมาธิ หรือพับเพียบ จะทำให้ข้อเข่าหมดสภาพได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการดูแลน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐานดัชนีมวลกาย ถ้าเมื่อไหร่ที่มีอาการปวดเกิดขึ้น และไม่หายไปภายใน 2-3 วัน แนะนำให้พบแพทย์มากกว่าใช้ยาด้วยตนเอง” นายแพทย์พฤกษ์กล่าวถึงวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น ไม่ให้เกิดอาการข้อเสื่อม

ทั้งนี้นายแพทย์เสถียรทิ้งท้ายว่า ตอนนี้อายุเฉลี่ยของประชากรมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่งการดูแลข้อต่างๆ ในร่างกาย จะเป็นตัวเสริมที่ทำให้ชีวิตมีคุณภาพ และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น