ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา 'ประเทศไม่ตรงปก' ผ่านความเห็น 4 นักการเมือง วิพากษ์ผลลัพธ์กลไก ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560

วงเสวนาประเทศไม่ตรงปก โดย 4 นักการเมือง อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข พรรคเพื่อไทย นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ นายภราดร ปริศนานันทกุล พรรคชาติไทยพัฒนา และนายปิยบุตร แสนกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ ร่วมถกเถียงให้ความเห็น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 

นายปิยบุตร กล่าวว่าในปัจจุบันมีหลายเรื่องที่เป็นปัญหา เช่นรัฐธรรมนูญ ที่มีบทโครงมาจากการรัฐประหาร ส่วนรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าคือกฎหมายสูงสุด แต่เอาเข้าจริงไม่ใช่ เพราะมันมีมาตรา 44 ที่ออกมาแล้วชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ กลายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ส่วนมาตรา 3 ระบุว่าอำนาจสูงสุดคือประชาชน ทุกวันนี้เรามีอำนาจจริงหรือไม่ หรือเป็นของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะเดียวกันหัวหน้าคสช. ออกคำสั่งห้ามประชาชนละเมิดกฎหมาย แต่คนที่ละเมิดอำนาจคนแรกคือหัวหน้าคสช. ที่ทำการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่มีการนิรโทษกรรมตัวเอง ที่ย้อนแย้งโดยการเยาวชนในปัจจุบัน เป็นยุคที่โชคร้าย ที่ไม่เห็นสภาที่มาจากประชาชน เราเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่าเราไปเลือกสนช. ตอนไหน

หากย้อนกลับไป 71 ปีที่แล้ว วันนี้(8พ.ย.) คือการรัฐประหารที่ถือว่าปิดฉากคณะราษฎร และเป็นจุดเริ่มต้นในการเอาทหารเข้ามานำการเมือง ที่วนเวียนในการฉีกรัฐธรรมนูญจนในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ราวกลับว่าเรื่องรัฐประหาร ที่ผิดปกติในสากล แต่กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ต้องตั้งคำถามว่าสาเหตุมันเกิดจากนักการเมืองหรือการแทรกแซงอำนาจของทหาร

ส่วนที่ผ่านมาการเมืองไทยกำลังเดินทางไปในทิศทางของมัน แต่ก็วนลูปในวงจรรัฐประหาร ทำให้เกิดรัฐประหารซ่อมในปี 2557 สำหรับปัญหาของประชาธิปไตยมีหรือไม่ ต้องยอมรับว่ามี แต่ต้องแก้ด้วยการเพิ่มประชาธิปไตย เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าไป ไม่ใช่การกลับไปหาทหารให้มาแก้ปัญหา จะเห็นว่าเมื่อทหารอยู่ในอำนาจมันไม่ใช่การแก้ไข 

 

“ประชาธิปไตยทุกที่มันมีปัญหา แต่มันต้องแก้โดยเติมประชาธิปไตยเข้าไป ไม่ใช่การเดินกลับไปหาทหารให้เข้ามาแก้ปัญหา” ปิยบุตร กล่าว


ดังนั้นตราบใดที่รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากคนยึดอำนาจเขียน ย่อมให้ความชอบธรรมกับคนยึดอำนาจ ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาจากประชาชนก็จะออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งฉบับปี 2560 ได้ระบุเนื้อหาที่เป็นวัตุประสงสงค์ของการยึดอำนาจรัฐประหาร ปี 2557 และเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร จึงเสนอว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องมีความโปร่งใสเสรีและเป็นธรรม เพราะเป็นการเดินพันของกลุ่มที่ต้องการสืบทอดอำนาจและกลุ่มคัดค้านการสืบทอดอำนาจคสช.


“รัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหาร นำพาประเทศไปสู่หายนะทุกครั้ง” ปิยบุตร กล่าว


 วัฒนา ลุย ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ลดขนาดกำลังพล หยุดบทบาททางการเมือง

นายวัฒนา ให้ความเห็นว่า ไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะคนไทยไม่ตรงปกอยู่แล้ว เพราะพวกเราถูกสอนให้อยู่เป็น นี่คือสังคมที่ไม่มีแก่นสารไม่มีหลักการ เพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ ถูกสอนให้เดินตามผู้ใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นสังคมศรีธนญชัย ซึ่งตรงข้ามกับสังคมนานาชาติ ปรากฎดังการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมที่มีความแตกต่างกัน ที่สังคมไทยจับก่อนถึงแม้จะไม่มีพยานหลักฐานแต่เชื่อว่าจำเลยทำผิดจริง ถ้าเราจะกลับสู่ให้สังคมไทยตรงปก อย่างแรกต้องปรับการสอนให้เคารพหลักการ ส่วนการอ้างคำว่าคนดี คือการอ้างให้คนบางส่วนเข้ามามีอำนาจเพียงเท่านั้น

ดังนั้นวันนี้เราสูญเสียหลักการมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจ วันนี้ประเทศไม่ได้ยืนอยู่ประเทศในสังคมโลก เราต้องนำประเทศกลับไปสู่หลักการของประชาธิปไตย จะเห็นว่าหลังการยึดอำนาจ นักลงทุนในประเทศไทยหายไปกว่า 90 เปอร์เซ็น เพราะเขาไม่กล้ากับความเสี่ยง

ขณะที่ท่านผู้นำมีการออกมาตรา 44 หลายครั้ง เช่น การปิดเหมืองแร่ทองคำ หรือการที่ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ไม่รับประกันว่าจะไม่ทำรัฐประหาร ก็ถือเป็นการไม่เคารพหลักการ จึงจำเป็นต้องสอนให้รักษาหลักการที่ดีไว้ เชื่อว่าจะทำให้เดินหน้าไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยได้

“รากเหง้าสังคมไทย คือรากเหง้าที่ไม่เคารพหลักการอะไรทั้งสิ้น” วัฒนา กล่าว

สำหรับปัญหาสำคัญที่ต้องแก้คือหลักการ ที่มีต้นตอคือกองทัพที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ต้องนำกองทัพกลับไปในที่ควรอยู่ และควรมีการปรับลดกำลังพล เพราะการมีกำลัง 4-5 แสนนาย มันเกินความจำเป็น ซึ่งสิ่งแรกที่เป็นหน้าที่ของนักการเมืองคือการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งภูมิศาสตร์ที่ประเทศไทยตั้งอยู่รอบข้างด้วยมิตรประเทศ และต่อไปคือการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

สิ่งที่จำเป็นต่อกองทัพคือการข่าวที่แม่นยำ ไม่ใช่การใช้ทหารเกณฑ์มาเลี้ยงไก่เลี้ยงปลาอย่างที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่เกิดจากการใช้สองมาตรฐาน ถ้ามีการเอาผิดคนยึดอำนาจ ลองดูสิว่าจะมีใครกล้ายึดอำนาจอย่างที่ผ่านมาหรือไม่ 

“กองทัพ คือภัยคุกคามทั้งด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมือง” วัฒนา กล่าว


อลงกรณ์ ชู “ การเมืองสีขาว” หยุดวงจรรัฐประหาร

นายอลงกรณ์ ให้ความเห็นว่าเนื้อในที่มันตรงปกที่คนอยากเห็นคือ ประชาธิปไตยโดยประชาชน เพื่อประชาชน ที่ไม่ใช่การให้ทุนเข้ามาผูกขาด เพื่อนำไปสู่ประเทศที่มีเสรีภาพและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมและการเมือง แต่ที่ผ่านมาเราได้เห็นการเมืองที่ล้มเหลว การผูกขาดจากทุนและวงจรการรัฐประหาร 13 ครั้ง จึงต้องมีทางออกสำหรับประเทศไทย

อย่างไรก็ตามปัญหานั้นไม่ได้เกิดแค่ประเทศไทย แม้แต่สหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ที่เป็นต้นแบบของประชาธิปไตยและระบอบรัฐสภา เมื่ออำนาจการเมืองบวกกับการผูกขาดจะคล้ายกันทั้งสามประเทศ ดังนั้นการเมืองเก่าที่ล้มเหลวก็จะทำให้ประชาธิปไตยติดหล่ม

เช่น จากการเมืองที่ล้มเหลวแตกแยก การคอร์รัปชัน ที่เกิดขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายสามชั่วโครต เมื่อปัญหามันแรงก็ต้องใช้ยาแรง รวมถึงปัญหาเหลื่อมล้ำผูกขาด รวยกระจุกจนกระจาย สะท้อนจากดัชนีความเหลื่อมล้ำแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผ่านการเมืองสีขาว เพื่อจะหยุดวงจรปัญหาเหล่านี้

"การเลือกตั้งอยู่ที่ประชาชน เพื่อเลือกคนดีมีความรู้ เพื่อยึดหลักการที่ถูกต้อง เพื่อแสดงพลังของประชาชนที่แท้จริง" อลงกรณ์ กล่าว


ภราดร ปลุกพลัง ‘ธงเขียว’ ร่างรัฐธรรมจากประชาชน

นายภราดร ให้ความเห็นว่าประเทศไทยต้องเริ่มต้นที่โครงสร้าง เพราะเราถูกสอนว่าถูกปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ตลอด 86 ปี ต้องตั้งคำถามว่าเรามีสิทธิเสรีภาพจริงหรือไม่ แล้วประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าประชาธิปไตยต้องมาจากประชาชน ส่วนรัฐธรรมที่ผ่านมา 20 ฉบับ เห็นว่า ฉบับ 2540 คือมาจากประชาชนเพียงอย่างฉบับเดียว

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นสังคมไทยไม่เคยเรียนรู้ ทำให้วนเวียนกับวิกฤติการเมือง และเราถูกสอนให้ควรลืมมันไปเสีย ซึ่งการชุมนุมทางการเมืองแต่ละครั้งควรให้บทเรียน ว่ามันเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรและจบเพราะอะไร เพื่อไม่ให้วนลูปกับสู่วงจรเช่นนี้อีก

ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแลกเปลี่ยน เพื่อให้บทเรียนในสังคมเพื่อเรียนรู้ความเจ็บปวด เพื่อแสวงหาทางออก มันถึงเวลาที่คนทั้งสังคม ต้องบอกผู้มีอำนาจว่าประเทศเป็นของพวกเรา เพื่อบอกว่าเรามีสิทธิเสรีภาพ และร่วมมือกันไม่นำสังคมให้เกิดเหตุการณ์ย้อนกลับไปซ้ำรอย 

สำหรับการเลือกตั้งนั้น ไม่มีใครมั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่การเลือกตั้งภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญเช่นนี้ สิ่งที่เราต้องเรียกร้องคือ จะทำยังไงให้การเลือกตั้งสามารถตรวจสอบและมีความโปร่งใส ขณะที่บรรยากาศเลือกตั้งในปัจจุบันมันไม่ปกติ ที่นักการเมืองไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือประชาชนไม่สามารถนำเสนอนักการเมืองได้ จำเป็นต้องเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ ปลดล็อกทางการเมืองทุกรูปแบบ และเชื่อว่าประเทศนี้ไม่สามารถตรงปกได้ ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้

ดังนั้นทางออกคือการให้ประชาชนร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ให้เห็นรณรงค์ธงเขียวอีกครั้ง และให้สสร. เข้ามามีส่วนร่วม

"เพื่อให้เจ้าของประเทศตัวจริงแสดงออกมาว่าเราต้องการอะไร เพื่อการสร้างอำนาจของประชาชนจริงๆ" ภราดร กล่าว


นายภราดร กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องเปลี่ยนทัศนคติตัวเอง ในการเรียกทหารออกมาแก้ปัญหา ต้องไม่มีในหัวสมองของคนไทยอีกต่อไป เพราะเชื่อว่าไม่มีอำนาจใดจะเอาชนะอำนาจของประชาชนได้