ไม่พบผลการค้นหา
เปิดหนังสือ ประธาน กรธ. ถึง ประธาน สนช. ย้ำห่วงกฎหมาย ส.ส. และ ส.ว. ที่ผ่าน สนช. มีเนื้อหาขัดต่อ รธน. ส่อกระทบการเลือกตั้งเสียหายในอนาคต

จากกรณีที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอแนะให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าชื่อ 1 ใน 10 เพื่อยื่นเรื่องต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ส่ง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น 

ล่าสุด นายมีชัย ได้ทำหนังสือ 2 ฉบับถึงประธาน สนช. โดยระบุว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ทาง กรธ. ปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่าบทเฉพาะกาลในร่างกฎหมายนั้น ผู้ร่างอาจกำหนดให้แตกต่างจากบทหลักได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดบทเฉพาะกาลในร่างกฎหมายจะต้องสอดคล้องกับบทหลักของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดด้วย

ดังนั้น แม้ว่า มาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติไว้ว่า ในวาระแรกเริ่มให้วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิก 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำก็ตาม แต่ในการสรรหาและแต่งตั้งสมาชิกจำนวน 50 คน และให้ดำเนินการโดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือก ส.ว. กันเองของบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญและสมัครตามกลุ่มต่างๆ ที่กำหนดไว้ โดยการแบ่งกลุ่มต้องมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

กรธ.ยังคงมีความห่วงกังวลอย่างมากว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ผ่านการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีการสมัครตามมาตรา 92/2 โดยแบ่งวิธีการสมัครออกเป็น 2 วิธี คือ (1) ยื่นใบสมัครด้วยตนเอง กับ (2) สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง พร้อมแสดงหนังสือแนะนำชื่อผู้สมัครจากองค์กรตามมาตรา 92/3 และการแนะนำผู้สมัครโดยองค์กร ตามมาตรา 92/3 รวมถึงกระบวนการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศตามมาตรา 92/4 มาตรา 92/5 และมาตรา 92/6 โดยให้ผู้สมัครแยกกันเลือกแต่ละวิธีที่ใช้ในการสมัคร เพื่อให้ได้บัญชีรายชื่อแยกเป็น 2 ประเภท

บทบัญญัติดังกล่าวมีผลทำให้มิใช่เป็นการเลือกกันเองในระหว่างผู้สมัครทั้งหมด แต่มีลักษณะเป็นการแบ่งโควต้าระหว่างผู้สมัครอิสระกับผู้สมัครที่องค์กรแนะนำ นอกจากนี้ การสมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง กับการสมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมหนังสือแนะนำชื่อผู้สมัครจากองค์กร มีผลแตกต่างกัน

ในกรณีผู้สมัครมีสิทธิสมัครได้โดยอิสระโดยไม่ถูกผู้ใดหรือองค์กรใดกลั่นกรองก่อน มีผลทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกสมัครได้อย่างเสรีทุกกลุ่ม แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขการคัดกรองจากองค์กรเสียก่อนว่าจะให้คำแนะนำเพื่อมีสิทธิสมัครได้หรือไม่ จึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์มาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งหมายให้เป็นการเลือกผู้สมัครด้วยกันเองอย่างเท่าเทียมกัน โดยมีหลักเกณ์และเงื่อนไขอย่างเดียวกัน

กรธ.เห็นว่า ปัญหาการบัญญัติไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีความสำคัญ หากมีผู้ร้องเรียนในภายหลังว่า บทบัญญัติเหล่านี้ขัดรัฐธรรมนูญ จะมีผลทำให้การเลือก ส.ว. ต้องเสียไปทั้งหมด และจะมีปัญหากระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กรธ.มีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับความเห็นของ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ใน 2 ประเด็น คือ 1. กรณีร่าง มาตรา 35 ที่บัญญัติกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องถูกจำกัดสิทธิดำรงตำแหน่งต่างๆ ทาง กรธ. มีความกังวลว่าอาจเป็นการบัญญัติเกินขอบเขตการจำกัดสิทธิตามมาตรา 95 วรรคสามของรัฐธรรมนูญได้

2. ร่างมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติ ว่า "...เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพ ทำให้คนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ"

กรธ. มีความห่วงกังวลว่า บทบัญญัติดังกล่าวอาจขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ เพราะการที่บัญญัติให้ผู้อื่นลงคะแนนแทนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งย่อมมิใช่เป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับอย่างแน่แท้

กรธ. จึงมีความห่วงกังวลว่าบทบัญญัติดังกล่าวอาจขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญ หากมิได้ดำเนินการให้ชัดเจนเสียก่อน และมีการจัดเลือกต้ังไปแล้ว แต่กลับมีการวินิจฉัยว่าบทบัญญัตินี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญในภายหลัง จะมีผลกระทบทำให้การเลือกตั้งต้องเสียไปและเกิดความเสียหายแก่ประเทศได้