ไม่พบผลการค้นหา
'นักเศรษฐศาสตร์' เผยสัดส่วนคนยากจนในประเทศไทย 3 ปีที่ผ่านมา เพิ่มสูงกว่าปี 51 ชี้เป็นผลจากวิกฤติเชิงโครงสร้าง มีความเหลื่อมล้ำกันในสังคม

จากกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ประกาศในงานสัมมนาไทยแลนด์ 2018 ระบุว่าจะทำให้คนจนในประเทศไทยหมดไป ภายในปี 2561 โดยรัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาเพื่อหาทางออกดูแลประชาชน ด้วยการเน้นพัฒนาและจ้างงานเพื่อกระจายเม็ดเงินสู่ชุมชน 

อย่างไรก็ตามดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยยกตัวเลขสัดส่วนของคนยากจนในประเทศไทยในระหว่างรอบ 30 ปี พบว่าในปี 2558-2559 สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้น 8.61% หรือจำนวน 5.810 ล้านคน ซึ่งมีตัวเลขทีสูงกว่าภาวะความยากจนใน 2 ครั้งที่ผ่านมา คือช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2541-2543 และช่วงปี 2551 ในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

โดยทั้งสองช่วงเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งแตกต่างจากครั้งล่าสุดที่การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่รายได้ของคนจนกลับลดลง 

ดังนั้นตัวเลขของสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ดร.เดชรัต มองว่าเป็นวิกฤติในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ตัวเลขคนจนลดลง หากไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ลดน้อยลง