เศรษฐกิจไทยในวันที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าดี
'ดร.เดชรัต สุขกำเนิด' ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โตจาก 2 ส่วนหลักๆ คือการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เกี่ยวพันกับการจ้างงานคนไม่มากนัก
"ภาคการท่องเที่ยว การส่งออก รวมถึงการผลิตเพื่อการส่งออก มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานรวมกันแล้วอาจจะไม่ถึงร้อยละ 20 แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้คนมากกว่า เช่น ภาคการเกษตร ซึ่งมีผู้คนอยู่ประมาณร้อยละ 40 รายได้ที่แท้จริงในภาคเกษตรมีแนวโน้มที่ไม่ดีขึ้นเลย มันก็เลยเกิดเป็นปัญหาว่า เศรษฐกิจภาพรวมที่ดี แต่ทำไมประชาชนถึงไม่รู้สึก เพราะว่ารายได้ส่วนของเขาไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย"
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด
สอดคล้องกับความเห็นของ 'ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงนี้ ฟื้นจากเครื่องจักรใหญ่ๆ อย่างการท่องเที่ยว และการส่งออก ผลประโยชน์จึงค่อนข้างจำกัด
"ร้อยละ 70-80 ของรายได้จากการท่องเที่ยว ลงอยู่แค่ 4-5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี นอกเหนือจากจังหวัดพวกนี้ จังหวัดรองได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวไม่เยอะ จริงๆ คนกรุงเทพฯ อาจจะรู้สึกดี แต่คนอีสาน คนภาคเหนือที่ไม่ใช่เชียงใหม่ ผลประโยชน์โดยตรงมันยังไม่ได้รับ ขณะที่ภาคการส่งออก ยังเป็นช่วงของการขายของเก่า ขายสินค้าคงคลัง"
"การที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี ผมเชื่อว่า มันอยู่ที่เรื่องรายได้ในภาคเกษตร ถ้าไปดูตัวเลขของแบงก์ชาติที่ออกมา จะเห็นว่าไตรมาสหลังๆ ตัวเลขรายได้ภาคเกษตรที่ไม่รวมเงินเฟ้อติดลบ แล้วมันสวนทางกับตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ที่ดีที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส อันนี้มันเป็นภาพที่ค่อนข้างชัดว่า การกระจายผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไม่ได้ส่งไปถึงคนส่วนใหญ่" ดร.พิพัฒน์กล่าว
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย
ดร.เดชรัต ยังชี้ให้เห็นผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2560 ว่า กลุ่มรายได้น้อย ร้อยละ 40 ของประเทศมีรายได้ลดลง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น แบ่งผู้สำรวจออกเป็น 5 กลุ่ม ตามชั้นของรายได้ เริ่มจากร้อยละ 20 ที่จนที่สุด, ร้อยละ 20 ที่จนรองลงมา, ร้อยละ 20 ตรงกลาง, ร้อยละ 20 ที่ค่อนข้างรวย และร้อยละ 20 ที่รวยที่สุด
ปรากฏว่ากลุ่มร้อยละ 20 ที่ค่อนข้างรวย และ กลุ่มร้อยละ 20 ที่รวยที่สุด มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กลุ่มร้อยละ 20 ที่จนที่สุด และกลุ่มร้อยละ 20 ที่จนรองลงมา รวมร้อยละ 40 จะมีรายได้ลดลง
"ค่อนข้างชี้ชัดว่า ประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยร้อยละ 40 ของประเทศ ไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามภาวะทางเศรษฐกิจ"
"จริงๆ ผมเสนอว่า ถ้าเราดูการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 20 สุดท้าย น่าจะเห็นภาพชัดเจนกว่า ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจมันลงไปที่คนกลุ่มล่างหรือยัง ถ้าคนร้อยละ 20 สุดท้ายดีขึ้น ก็มีโอกาสมากกว่าที่คนส่วนใหญ่ก็จะได้ดีขึ้นตาม" ดร.เดชรัตเสริม
พร้อมกับยกตัวอย่างจังหวัดพังงา เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเติบโตแบบรวดเร็วมาก ก้าวกระโดดเลย รายได้เพิ่มขึ้น 5 เท่า ในเวลา 7 ปี แต่จีดีพีภาคเกษตรเขาตกต่อเนื่อง 6 ปีซ้อน ราคายางตกต่ำ ราคาปาล์มก็ไม่ดี สัดส่วนคนจนยังเท่าเดิม ไม่ลดลงเลย ลักษณะการกระจุกแบบนี้ ไม่ได้เป็นความผิดของการท่องเที่ยว
"แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงให้การท่องเที่ยวไปถึงคนกลุ่มร้อยละ 20 สุดท้ายของจังหวัดให้ดีขึ้นได้ เช่น ถ้าเปลี่ยนไปปลูกพืชอาหารที่สามารถตอบสนองต่อการท่องเที่ยวได้ จะดีขึ้นมั้ย เป็นต้น" ดร.เดชรัตกล่าว
จีดีพีไตรมาสแรกโตร้อยละ 4.8 ดีที่สุดในช่วงรัฐบาลทหาร เศรษฐกิจดีจริงหรือ?
"คำถามอันที่หนึ่งเลยคือ ตัวเลขจีดีพีมันสะท้อนความเป็นจริงของคนหรือเปล่า? เพราะสุดท้ายแล้วตัวเลขจีดีพี เป็นแค่ตัวเลขตัวเดียว มันเป็นการสะท้อนค่าเฉลี่ย ค่าเฉลี่ยมันอาจจะดีกว่าคนส่วนใหญ่ก็ได้" ดร.พิพัฒน์ตั้งคำถาม
เพราะคำนิยามของจีดีพีคือ มูลค่าของสินค้าและบริการที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงนั้นๆ ถ้าเราไปดูฝั่งการใช้จ่าย เราจะพบว่าไม่มีส่วนประกอบไหนเลยของเศรษฐกิจ ที่โตในระดับร้อยละ 4.8 อย่างการบริโภคก็ยังโตอยู่ที่ร้อยละ 3 กว่าๆ การลงทุนโตอยู่ที่ร้อยละ 2 กว่า
"แปลว่า มีสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นมา แต่คนไม่ได้ใช้จ่าย และสิ่งที่ทำให้ จีดีพี กลายเป็นโตร้อยละ 4.8 ได้ ก็มาจากเรื่องของสินค้าคงคลัง คือผลิตออกมาแล้วยังไม่ได้ถูกขายออกมา ก็เลยกลายเป็นประเด็นทางเทคนิคที่ตัวเลขจีดีพีดี แต่ถ้ามาดูฝั่งรายได้ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะรายได้ภาคเกษตรติดลบด้วยซ้ำ มันก็ยืนยันได้ว่า ตัวเลขจีดีพีตัวเดียวที่สะท้อนภาพของเศรษฐกิจทั้งหมด อาจไม่ได้เป็นตัวเลขที่ดีนักในภาวะปัจจุบัน" ดร.พิพัฒน์อธิบาย
ด้าน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ในทางเศรษฐศาสตร์การใช้จีดีพีตัวเดียวไม่สามารถบอกได้ทุกมิติ
"เหมือนคนที่มีความสูง 180 เซนติเมตร ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นจะสุขภาพดี มันก็ต้องดูอย่างอื่นด้วย" ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
อีกทั้ง จีดีพีบอกแค่ขนาดผลผลิตบริการภายในระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้บอกการกระจายรายได้ ไม่ได้บอกการกระจายความมั่งคั่ง ไม่ได้บอกการกระจายการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งประเทศไทยแทบจะไม่ดีขึ้นเลย มีแต่แย่ลง
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
(ภาพ: ประชาไท)
พร้อมกับชี้ต่อว่า ภาพรวมความเหลื่อมล้ำ ไทยติดอันดับสามของโลก นี่คือปัญหาใหญ่สุด ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้การเติบโตกระจุกอยู่ในโครงสร้างส่วนบน ไม่มีการกระจายมายังฐานล่าง ลักษณะของกิจการ ธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมมีการผูกขาดสูง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
"เรื่องนี้มันก็เกี่ยวพันกับประชาธิปไตยทางการเมือง เพราะว่าเวลาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ มันไม่ได้แก้ที่เศรษฐกิจอย่างเดียว คุณต้องสร้างประชาธิปไตยทางการเมือง และสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ลดอำนาจผูกขาด การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงจะสามารถแก้ในระยะยาวได้" ผศ.ดร. อนุสรณ์กล่าวปิดท้าย
แล้วดูจะเป็นโจทย์และทางออกไปในตัวสำหรับการสร้างสังคมการเมืองเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยั่งยืนถ้วนหน้า ไม่ใช่รวยกระจุก จนกระจาย แม้ภาพใหญ่จีดีพีจะขยายตัว แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับอยู่ในวงจำกัดเช่นปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :