ไม่พบผลการค้นหา
สภาพัฒน์คาด ศก.ไทยทั้งปีติดลบ 7.5% ห่วงปัจจัยบั่นทอนความไม่สงบทางการเมือง ด้านแนวโน้มผู้ว่างงาน-หนี้ครัวเรือน-หนี้เสีย เพิ่มขึ้นทั้งหมด

ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เผยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ประจำไตรมาสที่ 2/2563 ติดลบ 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ยังไม่ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์เนื่องจากจีดีพีรายไตรมาสของไทยเคยลงไปติดลบถึง 12.5% ในวิกฤตต้มยำกุ้ง 

เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก จีดีพีของไทยหดตัวในระดับติดลบ 9.5% โดย สภาพัฒน์ประเมินว่าตลอดทั้งปี 2563 จีดีพีของประเทศจะหดตัวในช่วงติดลบ 7.8% ถึงติดลบ 7.3% และให้ค่ากลางไว้ที่ติดลบ 7.5% 

เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยหดตัวแทบทั้งสิ้น มีเพียงการอุปโภคภาครัฐบาลและการลงทุนรวมภาครัฐเท่านั้นที่ช่วยกระตุกจีดีพีขึ้นมาเล็กน้อยในสัดส่วน 1.4% และ 12.5% เมื่อเทียบกับตัวเลขในไตรมาส 2/2562 ตามลำดับ 

ขณะที่การส่งออกซึ่งเป็นสัดส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยติดลบโดยรวม 28.3% เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2562 แบ่งเป็นการส่งออกสินค้า ติดลบ 15.9% ทั้งที่ในไตรมาสก่อนหน้ายังทรงตัวในแดนบวกระดับ 2% ได้ ด้านการส่งออกบริการกระทบหนักติดลบกว่า 70%

เมื่อจำแนกตามภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ในไตรมาสที่ 2 อัตราการเติบโตภาคเกษตรหดตัว 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่นอกภาคเกษตรในฝั่งการผลิตอุตสาหกรรมติดลบ 14.4% ท้ายสุดภาคบริการโดยรวมติดลบ 12.3%

ทศพร ชี้ว่าปัจจัยสำคัญที่เศรษฐกิจไทยหดตัวมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ยิ่งเมื่อดูการอัตราการเติบโตทั่วโลกพบว่ามีเพียงจีนและเวียดนามเท่านั้น ที่ตัวเลขในไตรมาส 2/26563 ยังโตอยู่บ้าง ในระดับ 3.2% และ 0.4% ตามลำดับ 

นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลตต่อปัจจัยบั่นทอนเศรษฐกิจเพิ่มเติมว่ามาจากวิกฤตโรคระบาดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ในระดับโลก ยังมีส่วนมาจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่จะกลายเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขบั่นทอนเศรษฐกิจไทยได้ 

“วันนี้ทุกคนก็กลัวๆ กล้าๆ ในการลงทุนอยู่แล้ว ถ้ามีความไม่แน่นอนหรือขาดเสถียรภาพในการเมือง คนก็จะยิ่งกลัวในการบริโภค แต่ยังประเมินไม่ได้ว่าจะกระทบกี่เปอร์เซ็นต์” ทศพร กล่าว 


ตกงานเพิ่ม-หนี้ครัวเรือนเพิ่ม-หนี้เสียเพิ่ม

สำหรับสถานการณ์การจ้างงานในไตรมาส 2 ปรับตัวลดลง 1.9% จากที่มีแรงงานในระบบ 37.7 ล้านคน ลงมาเหลือเพียง 37 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนผู้ตกงานแล้ว 7 แสนราย ซึ่งเป็นการลดลงทั้งแรงงานในและนอกภาคเกษตรกรรม 

สำหรับกลุ่มนอกภาคเกษตรกรรม แรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีการปลดคนงานมากที่สุดในสัดส่วน 6.3% ขณะที่ฝั่งการผลิตและสาขาโรงแรม-ภัตตาคาร ลดลง 4.4% และ 2.8% ตามลำดับ 

อย่างไรก็ตาม เลขาฯ สภาพัฒน์ชี้ว่า ตัวเลขผู้ว่างงานข้างต้นเป็นเพียงตัวเลขโดยรวมที่ยังไม่เฉพาะเจาะจง แต่เมื่อพิจารณาจากผู้ขอใช้สิทธิรับประโยชน์กรณีว่างงาน ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 33 มีทั้งสิ้น 4.2 แสนคน

ขณะที่แรงงานในระบบที่ตกอยู่ในความเสี่ยงการว่างงานในอนาคตมีทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน โดยคนกลุ่มนี้คือผู้ที่ปัจจุบันยังมีสถานะเป็นผู้มีงานทำแต่สถานประกอบการประสบเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเปิดดำเนินการได้

นอกจากนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยขึ้นมาอยู่ที่ 80.1% ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ นับเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 4 ปี ด้วยมูลค่าถึง 13.48 ล้านล้านบาท ซึ่ง ทศพร มองว่ายังเป็นสัดส่วนที่ยังรับได้อยู่โดยเป็นการอ้างอิงงานศึกษาจากธนาคารโลก และมองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะลดลงได้เมื่อเศรษฐกิจภาพรวมกลับมา

ขณะที่มูลค่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้เสีย) หรือ NPLs มีมูลค่าแตะ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นการปรับตัวสูงขึ้นถึง 23.6% และคิดเป็นหนี้เสียต่อหนี้สินรวมทั้งหมด 3.23% เพิ่มขึ้นจาก 2.9% ในไตรมาสก่อนหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;