ไม่พบผลการค้นหา
เพื่อไทย ประกาศ รถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย เสร็จแน่! ภายในปี 68 ผ่าน “พ.ร..บ.ตั๋วร่วม” หลังแดง-ม่วง สำเร็จ “ธีรรัตน์” ลั่น นี่คือความกล้าหาญของเพื่อไทยที่พรรคอื่นไม่กล้าทำ

3 พ.ค. 2567 ในงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ของพรรคเพื่อไทย งานแสดงวิสัยทัศน์ และความคืบหน้าในนโยบายต่างๆ พร้อมประกาศเป้าหมายการทำงานในอนาคต นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.กล่าวว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นวิสัยทัศน์ของพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่สมัย 2549 เพราะการเข้าถึงขนส่งสาธารณะเป็นสวัสดิการพื้นฐานของประชาชน วันนี้รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการคมนาคม จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยทันทีที่เป็นรัฐบาล ไม่ถึงหนึ่งเดือนที่นายกรัฐมนตรีรับตำแหน่ง วันที่ 16 ตุลาคม 2566 รถไฟฟ้า 2 สาย คือสายสีแดง และ สีม่วง ลดค่าบริการลงมาที่ราคา 20 บาท ได้สำเร็จ หลังจากลดค่าโดยสารลงแล้ว ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงเพิ่มขึ้น 26.62% สายสีแดงเพิ่มขึ้น 14.43% 

จากนั้น กระทรวงการคมนาคม กางแผนโร้ดแมป เพื่อดำเนินการให้รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง คิดค่าบริการตลอดเส้นทาง ‘20 บาท’ ภายในปี 2568 ผ่านร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ… หรือ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมร่าง พ.ร.บ.รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองและอื่นๆ โดยสำนักงานขนส่งและนโยบายและแผนการจราจร (สนข.) ดำเนินการ จากราคารถไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 107 บาท หาก พ.ร.บ.ตั๋วร่วมสำเร็จ ประชาชนจะจ่ายเพียง 20 บาท ผ่านการมีกองทุนที่สะสมรายได้จากส่วนอื่นๆ มาชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารแทนประชาชน  

“ไม่มีพรรคการเมืองใดที่เสนอทำราคารถไฟฟ้าให้เหมาะสมกับรายได้ เป็นสวัสดิการของประชาชนอย่างแท้จริง รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คือความกล้าหาญของพรรคเพื่อไทยที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อพี่น้องประชาชน เป็นการจัดการระบบการเดินทาง ที่มีสัมปทานหลายเจ้าครั้งใหญ่ อะไรที่เคยติดขัด เป็นอุปสรรค จะถูกคลี่คลาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน”

นางสาวธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า ภายในปี 2568 ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสาย , พ.ร.บ. ตั๋วร่วม ต้องสำเร็จ ,ลดราคาค่าทางด่วนลงรถเมล์แอร์ EV ต้องสำเร็จ  เป้าหมายใหญ่ คือเพิ่มการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถส่วนตัว ลดปริมาณรถบนถนน แก้ปัญหารถติด แก้ปัญหาฝุ่น ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และสามารถเปิดให้ขยายทางสัญจรทางเท้า ให้ กทม.เป็นเมืองที่เดินได้ เมืองที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่มมากขึ้น เพื่อยกระดับขนส่งสาธารณะ ให้เป็น “การบริการสาธารณะ” อย่างแท้จริง