เมื่อวันที่ 7 มี.ค. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาตอบกระทู้แยกเฉพาะ 2 กระทู้ ที่ตั้งถามโดยนายศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาคลอง 30 เมตร อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และนายภัณฑิล น่วมเจิม สส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่ถามเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาน้ำเสีย บริเวณคลองหัวลำโพง ตลาดคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยมีนาย พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม
พล.ต.อ.พัชรวาท ชี้แจงกระทู้ของ นายศาสตราว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรับและเบิกจ่ายงบประมาณ ได้โอนงบประมาณให้กับเทศบาลนครหาดใหญ่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของเทศบาลนครหาดใหญ่ ในการบริหารสัญญากับคู่สัญญา ที่ผ่านมา เมื่อเกิดความล่าช้ากระทรวงฯ ได้เคยทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2566 พร้อมกับกำชับให้เทศบาลนครหาดใหญ่รายงานความคืบหน้าและรายงานปัญหาอุปสรรค อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาอาจจะมีมาตรการ จะชะลอการตั้งคำของบประมาณสำหรับปีถัดไป ขึ้นบัญชีรายชื่อเทศบาลนครหาดใหญ่ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความล่าช้าในการดำเนินงานโครงการฯ ที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อการเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในครั้งต่อ ๆ ไป จนกว่าโครงการเดิมจะแล้วเสร็จ และที่สำคัญ ให้เทศบาลนครหาดใหญ่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนในสัญญาเกี่ยวกับค่าปรับ เพื่อเป็นการประกันให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามสัญญาให้ถูกต้อง และอยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้หากผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จในปี 2567 ตามสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับตามกำหนด
จากนั้นได้ชี้แจงกระทู้ของนายภัณฑิล ว่าตลาดคลองเตยถึงคลองพระโขนงเนื้อที่ประมาณ 3,500 เมตร ซึ่งอยู่บนพื้นที่กรรมสิทธิ์ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และอนุญาตให้สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ใช้เป็นทางระบายน้ำ และพบว่ามีแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่มาจาก ตลาดคลองเตย 8 ชุมชนโดยรอบ บ้านเรือนที่ปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง ทำให้มีการทิ้งขยะ การระบายน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลลงสู่คลองหัวลำโพงโดยตรง ส่งผลให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และเกิดการตื้นเขินของคลอง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้เข้าร่วมดำเนินโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองหัวลำโพง ซึ่งมีกรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหลัก โดยได้เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วยและมีการดำเนินการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาน้ำเสียดังกล่าวแล้ว บางกิจกรรมแล้วเสร็จ และบางกิจกรรมอยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองและแหล่งกำเนิดมลพิษ พบว่าอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ถึงแม้ว่าค่าความสกปรก ในปี 2566 จะลดลงจากปี 2565 ซึ่งจะได้ติดตามและเร่งรัดการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียของตลาดคลองเตย หากเข้าข่ายเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ ทางกรมควบคุมมลพิษจะนำกฎหมายมาบังคับใช้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษต่อไป
“ขอขอบคุณ สส.ทั้งสองท่านที่ได้ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผมจะเร่งรัดการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน”