วันที่ 15 ก.พ.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง เป็นประธานการประชุมโดยที่ประชุมได้พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนกรณีการกัดเซาะชายฝั่งของนายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ถามรมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ว่าเนื่องจากการเกิดมรสุมทุกปีปรากฎว่าตลอดแนวชายฝั่งของอ.ปากพนัง และอ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายทั้งทรัพย์สิน และบ้านเรือนแต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นปัญหาที่ซ้ำซากถึง 8 ปีแล้ว
โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.ทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม ตอบกระทู้สดด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก ว่า การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง อ.ปากพนังอ.หัวไทรนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองมีโครงการ จะสร้างเขื่อนหินใหญ่เรียงเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนให้กับราษฎรในพื้นที่ซึ่งก่อนหน้านี้ในบางบริเวณได้มีการก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว โครงการ ก่อสร้าง เขื่อนหินทิ้ง ดังกล่าว กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เสนอโครงการต่อคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการ กัดเซาะ ชายฝั่งทะเล พิจารณาและคณะอนุกรรมการฯ มีมติ ให้กลับไปทบทวน โครงการ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการและอาจกระทบไปถึงบริเวณปลายแหลมตะลุมพุกได้ ราษฎรในพื้นที่ อ.ปากพนัง อ.หัวไทร อยากได้เขื่อนกันคลื่น ซึ่งเป็นโครงสร้างแข็ง มีความ คงทนถาวร แต่ปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแก้ไขปัญหา โดยการปักรั้วไม้ชะลอคลื่นซึ่งเป็นโครงสร้างไม่ถาวรและอยู่ได้ไม่นาน ราษฎรในพื้นที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีดังกล่าวประกอบกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดว่าการสร้างเขื่อนกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่เกิดความล่าช้า
“ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชน ในพื้นที่ที่ได้รับ ผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งในช่วง เดือนมกราคม ที่ผ่านมา ผมได้มอบหมายให้ ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงไปรับฟังปัญหาและหาแนวทางการแก้ปัญหาแล้ว"
พล.ต.อ.พัชรวาท ชี้แจงอีกว่า สำหรับพื้นที่ อ.หัวไทร ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการปักรั้วไม้ ดักทรายเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นระยะทางความยาว 200 เมตร เพื่อลดผลกระทบของการกัดเซาะ ชายฝั่ง และบรรเทา ความเดือดร้อน ให้กับประชาชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่าง ติดตามผลการดำเนินงาน ในส่วนพื้นที่อ.ปากพนัง ซึ่งมีปัญหาที่ซับซ้อนและยังมีชายฝั่งที่สมบูรณ์และสวยงาม การแก้ปัญหา ต้องใช้ รูปแบบ ที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงจึงได้มอบหมายให้นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะอนุกรรมการบูรณาการ ด้านการจัดการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ลงพื้นที่ เพื่อไปศึกษารูปแบบการแก้ปัญหาที่เหมาะสมให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน หรือประมาณปลายเดือน มีนาคมที่จะถึงนี้
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า สำหรับประเด็น ภัยพิบัติในพื้นที่ ชายฝั่ง อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เมื่อประชาชน ได้รับความเดือดร้อน ทางกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ใช้วิธีการชั่วคราวในการแก้ไข ปัญหาระยะสั้น เช่น การวางกระสอบทราย หรือการปักรั้วไม้ ดักตะกอนทราย ในส่วนของการแก้ไขปัญหา ระยะยาว พยายามเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่หากเป็นรูปแบบที่ต้องจัดทำ รายงานการประเมิน ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (EIA) ตามกฎหมายทางกระทรวง ทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จะให้คำแนะนำและเร่งรัดกระบวนการเพื่อให้ การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่วนกรณีที่ชาวบ้านยังประสบปัญหากัดเซาะต้องการให้แก้ไขเร่งด่วน ขอให้พิจารณาผ่อนผัน ยกเว้น การทำ EIA ในพื้นที่ประสบปัญหาซ้ำซากนั้น จะให้สำนักนโยบายแผนฯ ชี้แจงรายละเอียดต่อไป