นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในเดือน มี.ค. 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 (โรคโควิด 19) ได้แพร่กระจายและแพร่ระบาดไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลทำให้ในหลายจังหวัดมีการประกาศปิดพื้นที่และปิดสถานบริการหลายแห่ง รวมทั้งมีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายและการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
นอกจากนี้ ในเดือนมี.ค. 2563 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้มีหนังสือถึงผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้เปิดดำเนินการให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพื่อขอความร่วมมือเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ด้วยความสมัครใจ ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จำนวนมากกว่า 250 ราย แจ้งตอบรับเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ทั้งในเรื่องของการพักชำระต้น การลดอัตราดอกเบี้ย และการขยายระยะเวลาการชำระหนี้
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางกระแสการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สถานการณ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในเดือน มี.ค.2563 ยังคงมีผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัส คือ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมสุทธิ 1,189 ราย เพิ่มขึ้น 21 รายจากเดือน ก.พ. 2563 แบ่งเป็น
ธ.ค.2559-มี.ค.2563 มีผู้ประกอบการมีใบอนุญาต 'พิโกไฟแนนซ์' เปิดบริการ 722 ราย
โดยรายละเอียดความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือน มี.ค. 2563 สรุปได้ ดังนี้
สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 - มี.ค. 2563 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,324 ราย ใน 76 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (112 ราย) กรุงเทพมหานคร (106 ราย) และขอนแก่น (66 ราย) ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีจำนวนนิติบุคคลที่แจ้งคืนคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์รวมทั้งสิ้น 135 ราย ใน 52 จังหวัด จึงคงเหลือจำนวนนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 1,189 ราย ใน 75 จังหวัด โดยมีจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 862 ราย ใน 73 จังหวัด (ขอคืนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์จำนวน 21 ราย และขอเปลี่ยนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เป็นประเภทพิโกพลัส จำนวน 36 ราย)
ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท ได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 722 ราย ใน 71 จังหวัด และมีรายละเอียด ดังนี้
(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 1,033 ราย ใน 75 จังหวัด มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สุทธิทั้งสิ้น 802 ราย ใน 73 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 687 ราย ใน 70 จังหวัด
(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 156 ราย ใน 54 จังหวัด ประกอบด้วยนิติบุคคลที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบคำขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสจำนวน 83 ราย ใน 38 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตใหม่จำนวน 73 ราย ใน 29 จังหวัด โดยมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสแล้ว 60 ราย ใน 25 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 35 ราย ใน 19 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 2 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ และศรีสะเกษ)
(3) ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสม
มี.ค.2560-มี.ค.2563 ดึงหนี้นอกระบบผู้มีรายได้น้อยเข้าระบบ 4.5 หมื่นราย
สำหรับสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.85 ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของโครงการสินเชื่อประเภทดังกล่าวมีการอนุมัติสินเชื่อสะสมรวมทั้งสิ้น 624,384 ราย รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 27,366.17 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวนทั้งสิ้น 578,597 ราย รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 25,390.98 ล้านบาท และเป็นสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบจำนวนทั้งสิ้น 45,787 ราย รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,975.19 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดสะสมนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 -มี.ค. 2563 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,448 คน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องใน 5 มิติ ได้แก่ (1) ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย (2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย (4) เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และ (5) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่
• สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599
• ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155
• ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567
• ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359
• ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร 0 2575 3344
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :