เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 2 ฉบับ 1. พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น 2.ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น นำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขั้นรับหลักการวาระที่หนึ่ง โดยที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ส่วนร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น กำลังอยู่ในขั้นการพิจารณา
นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ชี้แจงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... โดยกำหนดวิธีการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็น 2 กรณี
1) การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีจำนวน ผู้เข้าชื่อเกินกึ่งหนึ่งของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากมีการถอนชื่อแล้วจำนวนเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ผู้กำกับดูแล ยุติเรื่อง แต่หากมีการถอนชื่อหรือไม่ถอนชื่อและมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง ให้ผู้กำกับดูแลประกาศให้ประชาชนทราบ และให้ถือวันประกาศเป็นวันพ้นจากตำแหน่งของผู้ถูกถอดถอน
2.การเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าพันคน หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า สุดแต่จำนวนใดจะน้อยกว่าของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากมีการถอดถอนชื่อแล้วจำนวนไม่ถึงห้าพันคนหรือไม่ถึงหนึ่งในห้า สุดแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า ให้ผู้กำกับดูแลยุติเรื่อง หากมีการถอนชื่อหรือไม่ถอนชื่อ และมีจำนวนเกินห้าพันคนหรือเกินหนึ่งในห้า สุดแต่จำนวนใดจะน้อยกว่าให้ผู้กำกับดูแลตั้งคณะกรรมการสอบสวนและดำเนินการสอบสวนต่อไป
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ความจริงกฎหมายดังกล่าวไม่ควรเข้าสภาด้วยซ้ำ เพราะประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อยื่นถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายอยู่แล้ว นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 250 วรรคห้า ที่ป้องกันการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น แต่ร่างกฎหมายดังกล่าว กลับให้อำนาจนายอำเภอ และ ผู้ว่าราชการจังหวัด กำกับผู้บริหารท้องถิ่นจนเกินไป
ขณะที่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง กำกับดูแลผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง คล้ายการบังคับบัญชาผู้บริหารท้องถิ่น แล้วจะกระจายอำนาจได้อย่างไร นอกจากนี้ กระบวนการถอดถอน ยังไม่มีแนวทางการคุ้มครองผู้ที่ลงชื่อยื่นถอดถอน เมื่อเป็นเช่นนั้น ประชาชนจะไม่กล้าใช้สิทธิได้อย่างไร
สาธิต วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เป็นที่สังเกตว่าเหตุใดร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอสามารถถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้ โดยในกฎหมายเดิม การถอดถอนขั้นสุดท้ายต้องจบที่การลงมติของประชาชน เจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง แต่ฉบับนี้ กลับให้อำนาจประชาชนแค่แจ้งข้อกล่าวหา ส่วนขั้นตอนสุดท้ายกลับอยู่ที่กลไกของหน่วยงานราชการ เท่ากับการให้อำนาจกระทรวงมหาดไทย ไปกำกับการทำงานของท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายการประชุม ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นหารือเสนอประธานที่ประชุมให้ปิดการประชุม โดยระบุว่า เนื่องจากมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก หากกฎหมายฉบับนี้ออกไป จะกระทบต่อการเมืองในท้องถิ่นอย่างรุนแรง จึงเสนอให้ปิดการประชุม แล้วให้สมาชิกได้กลับไปทบทวนดูกฎหมายอีกครั้ง จึงค่อนกลับมาลงมติในสัปดาห์หน้า
จากนั้น ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งปิดการประชุม โดยมีเสียงของ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ทักท้วงว่า “อย่าปิดประชุมหนีครับ” แต่เสียงทักท้วงไม่เป็นผลแต่อย่างใด