จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนภายใต้ 'คณะราษฎร' ยกระดับกดดัน รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตอบข้อเรียกร้อง 3 ประการ 1.พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง 2.เปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนนำไปสู่การออกมาชุมนุมในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ
โดยมีนัดชุมนุมใหญ่ 7 วัน 7 คืน เริ่มที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ วันที่ 25 พ.ย. ซึ่งจะจบในวันที่ 2 ธ.ค. ตรงกับศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำสั่งกรณี พล.อ.ประยุทธ์ พักบ้านหลวงหลังเกษียณ
ล่าสุด อานนท์ นำภา ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นแกนนำคนสำคัญในการเคลื่อนไหว ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า " ประยุทธ์อาจลาออกก่อนวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้"
ทว่าที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันเน้นย้ำมาตลอดว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง เพราะยังทำภารกิจไม่สำเร็จ อีกทั้งวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ออกแถลงการณ์ใจความว่าหลังรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาการชุมนุมโดยยึดหลักการปรองดองแล้ว แต่ทิศทางการชุมนุมยังไม่ดีนัก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้มข้นในการใช้กฎหมายทุกมาตราที่มีอยู่
ซึ่งจากข้อความดังกล่าวเป็นน่าจับตาว่าอาจจะถึงขั้นใช้ มาตรา 112 ฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่
ด้าน อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ภารกิจทุกอย่างของพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำเนินการตามปกติ และนายกรัฐมนตรี ยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันในช่วงเย็นของวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 รวมถึงภารกิจอื่นๆ ก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ ยืนยันว่านายกฯ ไม่มีการพูดคุยถึงประเด็นอื่นๆ แต่อย่างใด
"ขอให้ดูด้วยว่าข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งตื่นตระหนก และขอให้มีการตรวจสอบข้อมูลด้วย และที่สำคัญต้องดูคนโพสต์ด้วยว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน" อนุชา กล่าว
อ่านเพิ่มเติม