ไม่พบผลการค้นหา
สื่อในสิงค์โปร์ชี้กรณี ‘อภิสิทธิ์’ ประกาศไม่สนับสนุน ‘พล.อ.ประยุทธ์’ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะพรรคประชาธิปัตย์เล็งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ต่อต้าน ‘ทักษิณ’ แต่รักษาระยะห่างกับกองทัพ คาดหวังดึง ส.ส.จาก พปชร.ร่วมโหวตยกเก้าอี้ผู้นำให้ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’

โทรทัศน์แชนเนลนิวส์เอเชียในสิงค์โปร์ เสนอรายงานเกี่ยวกับการเมืองไทย ระบุว่า การเลือกตั้งใหญ่ของไทยในวันที่ 24 มีนาคม ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีความสลับซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้

รัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยระบอบทหารได้ออกแบบระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม พร้อมกับระบบรัฐสภา ซึ่งวุฒิสมาชิกที่มาจากรัฐบาลทหารจำนวน 250 คนมีสิทธิทัดเทียมกับผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คนในการออกเสียงเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี

รายงานอ้างความเห็นของนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งบอกว่า ภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ทหารจะยังคงควบคุมการเมืองไทยต่อไปโดยผ่านพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และถึงแม้พลังประชารัฐได้ ส.ส.น้อย ทหารก็จะยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงโดยผ่านวุฒิสมาชิกที่คณะรัฐประหารเป็นผู้เลือก

กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (10 มี.ค. 2562) ว่า ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี นายพิชญ์บอกว่า ประชาธิปัตย์ต้องการกำหนดตัวเองเป็นพรรคต่อต้านนายทักษิณ ชินวัตร ที่รักษาระยะห่างกับทหาร ถือเป็นพรรคการเมืองอีกขั้วหนึ่งที่แยกตัวจากขั้วสนับสนุนทหารกับขั้วต่อต้านทหาร โดยพรรคประชาธิปัตย์อาจจับมือกับพรรคขั้วสนับสนุนทหาร จัดตั้งรัฐบาลที่มีประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ

แชนเนลนิวส์เอเชียรายงานด้วยว่า พรรคการเมืองไทยในเวลานี้ แบ่งเป็น 3 ขั้ว ขั้วสนับสนุนทหาร ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ ประชาชนปฏิรูป และรวมพลังประชาชาติไทย

ขั้วต่อต้านทหาร ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย เพื่อธรรม เพื่อชาติ และไทยรักษาชาติที่เพิ่งถูกยุบ ร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ สามัญชน และเสรีรวมไทย และขั้วที่ไม่ประกาศจุดยืน ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา 

นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวระหว่างการดีเบตก่อนหน้านี้ว่า ประชาธิปัตย์เป็นทางเลือกที่สาม ถ้าพรรคได้เสียงข้างมาก เราก็จะเป็นฝ่ายถามว่า พรรคไหนจะมาร่วมกับเราบ้าง.

Source: Channel NewsAsia

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: