ไม่พบผลการค้นหา
“ชวน” ให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากจะมีการเสนอญัตติใหม่ก็สามารถยืนได้ในสมัยประชุมหน้า  เลขาฯ ก้าวไกล ซัด ส.ว. อุปสรรค แก้รัฐธรรมนูญ

ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดเผยว่าหลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกคว่ำไปเมื่อวานนี้ แต่สมาชิกรัฐสภาก็ยังสามารถยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้ในสมัยประชุมหน้า  ส่วนกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับตอนนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน เพราะกฎหมายก็ไม่มีเรื่องของการทำประชามติก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญ ถึงไม่ทราบว่าจะเริ่มอย่างไร ซึ่งก่อนนี้เคยได้คุยกับฝ่ายกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็ไม่สามารถตอบได้ จึงต้องรอดูในวันนี้ที่สภาจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติในวาระสองและสาม ซึ่งมีมาตรา 10 ที่มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ จึงต้องดูว่าจะไปอย่างไร 

“ขณะนี้ที่จะทำใหม่ถ้าพูดจริงๆขณะนี้ หน้าตามันจะเริ่มอย่างไร ก็ไม่มีใครตอบได้ เขาก็คุยเรื่องนี้กันมาก่อนแล้ว ซึ่งผมก็ยังคิดในใจว่าเมื่อปิดประชุมจะให้เจ้าหน้าที่ศึกษาดู ว่าถ้าจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ย้ำ ว่าต้องทำประชามติก่อน โอกาสจะเป็นอย่างไรเพราะในรัฐธรรมนูญไม่มี” ชวนกล่าว

เมื่อถามว่าจะต้องถามศาลรัฐธรรมนูญถึงความชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่นายชวนกล่าวว่า เป็นงานของฝ่ายบริหาร ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปตามข้อกฎหมาย วิธีการปฏิบัติอย่างไรไม่แน่ใจว่าศาลทราบหรือไม่  


ชวนรับเงื่อนมัดแก้ รธน.

เมื่อถามว่าตอนนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช่หรือไม่ ชวนยอมรับว่า เขาเขียนเพื่อไม่ให้แก้ไข หลักๆคือเขียนให้แก้ยากที่สุด ทำให้ขบวนการมันไม่ง่ายตั้งแต่ต้น เงื่อนไขคือต้องมีคะแนนเสียงจากฝ่ายต่างๆ ถึงจะแก้ได้ แต่ด้วยเจตนารมย์คือต้องการไม่ให้แก้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าแก้ไม่ได้เสียเลย ซึ่งหากแก้แบบรายมาตราก็จะง่ายกว่า โดยกรณีร่างกฎหมายฉบับนี้ผู้เสนอบอกว่าเป็นการแก้แบบรายมาตรา แต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าการแก้นี้จะส่งผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 

สำหรับการประชุมรัฐสภาวันนี้เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายร่างกฏหมายที่ค้างอยู่ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ คาดว่าจะแล้วเสร็จตามที่ได้วางไว้ โดยร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดมีเนื้อหาที่ยาว แต่ผู้แปรญัตติน้อย ถ้าไม่อภิปรายกันมากก็น่าจะจบไว

“สุทิน” ผิดหวังภูมิใจไทย เล่นละครวอร์คเอาท์ 

ที่รัฐสภา สุทิน คลังแสงส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการคว่ำโหวตวาระ 3 เมื่อวานนี้ว่า เป็นการเล่นเกมการเมืองของหลายฝาย และชี้ให้เห็นแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใครของจริงของปลอมโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่ส่วนตัวรู้สึกสับสน เพราะคาดไม่ถึงว่าจะใช้วิธีการวิร์คเอาท์ เพราะฝ่ายค้านยังคาดหวังเสียงจากพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศมาตลอดว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคาดว่าจะสามารถพลิกเกมให้ผ่านความเห็นชอบไปได้ แต่เมื่อพรรคภูมิใจไทยใช้วิธีการนี้ก็ยอมรับว่าผิดหวัง 

สุทินยังยอมรับว่า ฝ่ายค้านไม่ปฎิเสธที่รู้อยู่แล้วว่าเดินหน้าลงมติวาระ3 จะเกิดการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ซึ่งสิ่งที่ฝ่ายค้านจับตาเมื่อวานนี้คือลุ้นว่าฝ่ายรัฐบาลจะคว่ำในขั้นตอนใด เพราะมี2 สเต็ป คือ คว่ำก่อนลงมติวาระ3 เพื่อไม่ให้มีการโหวตเลย กับคว่ำตอนโหวตวาระ3 ซึ่งทราบมาว่าการตั้งเป้าจะคว่ำก่อนลงมติอยู่แล้วโดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ฝ่ายค้านเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ จนในที่สุดฝ่ายรัฐบาลเปลี่ยนแผนใช้วิธีการล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการโหวตวาระ 3 ตามญัตติของฝ่ายค้าน จนทำให้คนสงสัยว่าเหตุใดฝ่ายค้านจึงรับรองญัตติให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และยืนยันว่าในประเด็นนี้ฝ่ายค้านยืนอยู่จุดนี้มาโดยตลอด เพื่อเดินหน้าลงมติวาระ 3 แต่สุดท้ายฝ่ายรัฐบาล โดยนายไพบูลย์ ใช้วิธีการนี้ในการเดินเกม อย่างไรก็ตามเราจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปแน่นอนอีกแน่นอน แต่จะแก้อย่างไรก็ต้องมาทบทวนบทเรียนกันก่อน 


นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ

สุทิน ยังถามถึงความรับผิดชอบไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนที่รัฐบาลจะทำประชามติหลังจากนี้ รัฐบาลควรตอบสังคมให้ได้ว่านโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และจะรับผิดชอบอย่างไรในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการร่วมรัฐบาล และ มีการแถลงนโยบายนี้ต่อรัฐสภาไว้ชัดเจน แต่พรรคร่วมรัฐบาลกลับมาล้มกันเอง ดังนั้นนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ แล้วค่อยเดินหน้าทำประชามติ ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นเรื่องของรัฐบาลแล้ว เพราะการทำประชามติตามคำ วินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต้องเริ่มจากรัฐบาล.


เสรีพิสุทธิ์ อัดกระบวนการถ่วงรั้งรัฐธรรมนูญ

พล.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงภาพแผนล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นความประสงค์ของผู้ที่มีอำนาจ แม้ฝ่ายค้านจะพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการอย่างเต็มที่แล้ว แต่จะเห็นได้ว่ามีกระบวนการที่ถ่วงรั้งอยู่ตลอดเวลา และตีรวนจนกระทั่งเอาอำนาจของสภาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปตามที่ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องการไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจดังที่มีการวางแผนไว้ 

ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ไปสนับสนุนเผด็จการ เมื่อคืนก็มีการแสดงบทบาทโวยวายในสภา แต่แล้วก็หลบไม่ลงคะแนน หากลงคะแนนแม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะแพ้ แต่ก็ยังดูดีไม่ใช่เล่นบทหลอกลวงประชาชนไปวันๆ เมื่อวานตนเองก็อยู่โหวตจนจบแม้จะรู้ว่าแพ้ และถึงแม้ฝ่ายค้านจะยกให้เต็มที่เท่าไหร่ก็แพ้ ก็ต้องรอเลือกตั้งครั้งหน้า และให้ประชาชนตัดสินใจ ว่าปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้หรือ และให้รู้ว่าพรรคไหนหนุนเผด็จการ


เลขาฯ ก้าวไกล ซัด ส.ว. อุปสรรค แก้รัฐธรรมนูญ 

ชัยธวัธ ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุถึงเหตุการณ์ที่ที่ประชุมรัฐสภาลงมติคว่ำญัต ติการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามเมื่อวานนี้ว่า อุปสรรคสำคัญในการแก้ไข คือสมาชิกวุฒิสภาและ ส.ส.พรรครัฐบาลจำนวนหนึ่ง พร้อมกล่าวถึงกรณีที่ พรรคภูมิใจไทย และ ส.ส. ที่ไม่ร่วมลงมติ ว่า เป็นการเตะถ่วงเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

นอกจากนี้ยังจี้ ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะรับผิดชอบอย่างไร เพราะออกมาให้สัมภาษณ์อยู่เสมอว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ในความเป็นจริงแล้วกับทำสิ่งที่ตรงกันข้าม 

สำหรับการดำเนินการต่อไปของพรรคก้าวไกลจะศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายมาตราในสองประเด็นหลักคือ การลดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาการปฏิรูปองค์กรอิสระ และเร่งให้มีการทำประชามติซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอสองคำถามพ่วงสำคัญ 1.ประชาชนยังเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรมีวุฒิสภา 2. ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ควรปฏิรูปองค์กรอิสระ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าแนวทางของพรรคก้าวไกลต้องการให้เป็นในรูปแบบของสภาเดียวคือมีเพียงสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียวใช่หรือไม่ ชัยธวัธ ระบุว่าขณะนี้เห็นแล้วว่าผู้ที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือสมาชิกวุฒิสภาจึงควรดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน


ส.ว.ห่วงละเมิดคำวินิจฉัยศาล รธน.

พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีที่มีสมาชิกรัฐสภาอยู่เป็นองค์ประชุมในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ร่วมลงคะแนนเสียงโหวตในวาระ 3 โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาว่า วุฒิสภาทราบอยู่แล้วว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีมติเด็ดขาดว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องผ่านการจัดทำประชามติก่อน

หากจะดึงดันที่จะลงมติในวาระ 3 จึงเป็นการกระทำที่สวนทางกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายวุฒิสภา จึงขอไม่ร่วมโหวตลงมติดังกล่าว ซึ่งสมาชิกรัฐสภาท่านใดที่โหวตเห็นด้วยก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนเองที่อาจจะนำสู่การยื่นฟ้องร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช เพื่อถอดถอนการดำรงตำแหน่งได้ในอนาคต 

ดังนั้นคะแนนเสียงในการโหวตลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ไม่ประสงค์ออกเสียงนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สมาชิกท่านพิจารณาเห็นแล้วว่าหากลงมติเห็นชอบจะขัดต่อกฎหมายอย่างแน่นอนจึงไม่ประสงค์ลงคะแนน เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง 

ทั้งนี้ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ยืนยันว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวด 15/1 เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งหากจะจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นจะต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนก่อน ดังนั้นจึงเห็นว่าญัตติที่เสนอโดยนายสมชาย แสวงการ และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ที่เสนอให้ไม่ต้องมีการลงมติในวาระ 3 จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สมาชิกรัฐสภาปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อกฎหมาย 


ไม่สามารถเดินนอกกรอบกฎหมาย

ยืนยันว่าวุฒิสภาไม่ใช่ไม่กล้าลงคะแนนเสียงเห็นชอบ แต่วุฒิสภาพิจารณาแล้วมองว่าการลงมติเห็นชอบในวารสารเป็นการขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ร่วมลงมติดังกล่าว เพื่อความเป็นกลางทางการเมือง และยึดถือผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก วุฒิสภาจึงไม่สามารถที่จะเดินนอกกรอบกฎหมายได้ 

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยังไม่ถึงทางตันยังสามารถที่จะเดินหน้าแก้ไขได้แต่จะต้องเป็นการแก้ไขแบบรายมาตรา ซึ่งหากจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็สามารถทำได้แต่จะต้องผ่านประชามติของประชาชนเท่านั้น