ไม่พบผลการค้นหา
ส.ว.ถกญัตติประชามติแก้ รธน. หนุนเปิดทาง รธน. ใหม่ทั้งฉบับ ย้ำยังไม่เห็นเหตุผลจะคัดค้านประชาชน แต่ 'สมชาย' เสนอญัตติยื้อขอตั้ง กมธ. ศึกษาเพิ่มเติม อ้างเหตุข้อมูลฝ่ายค้านยังไม่เพียงพอให้ลงมติ ที่สุดวุฒิสภามีมติ 143 ต่อ 26 เสียง เห็นชอบตั้ง กมธ.ศึกษา

วันที่ 21 พ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ได้พิจารณาเรื่องด่วน คือการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ โดยก่อนการลงมติ ได้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง

มณเฑียร บุญตัน ส.ว. มองว่า การเสนอญัตตินี้เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย ส่วนเหตุผลทางการเมืองเสนอให้จัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งตนไม่เชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่สังคม เห็นได้จากที่ผ่านมา การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหลายครั้ง ท้ายสุดก็มีอันเป็นไป เพราะกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจมักจะหาหนทางเหวี่ยงกลับมาเสมอ

"ยามใดที่ประชาชนมีความขัดแย้งสูง การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจเป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนผู้เห็นต่าง ออกมาเผชิญหน้าโดยไม่จำเป็น ขอย้ำเตือนไปยังผู้ที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การจะแก้ไขอะไรก็แล้วแต่ ต้องคำนึงถึงความพอดี และไม่สร้างเงื่อนไขให้รัฐธรรมนูญมีอันเป็นไป หรืออายุสั้นเหมือนที่เคยเป็นมา เพราะการเปลี่ยนแปลงอะไรแบบถอนรากถอนโคน ย่อมไม่เกิดขึ้นโดยง่าย" มณเฑียร กล่าว

ด้าน กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. เห็นว่า สมควรต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดความขัดแย้ง แต่ไม่ควรทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้ง เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี ประชาชนอาจจะสับสนและอาจทำให้พรรคการเมืองสามารถนำเจตนาการแก้รัฐธรรมนูญไปใช้หาเสียงได้

"ผมมองว่ามี 2 ทางเลือก คือ ทำประชามติก่อนการเลือกตั้ง หรือหลังการเลือกตั้ง แต่ผมคิดว่าทางที่จะเป็นไปได้คือการทำประชามติหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐบาลต่อไปมีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญ แล้วเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณสัก 2 ปี ก็จัดการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ด้วยรัฐธรรมนูญใหม่"

ขณะที่ ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ชื่นชมผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเคารพเสียงจากสภาผู้แทนราษฎรที่แทบจะเป็นเอกฉันท์ โดยตนมีข้อสงสัยว่า ประชาชนควรจะเข้าใจอย่างชัดเจนก่อนหรือไม่ว่าการทำประชามติไปเพื่ออะไร แก้รัฐธรรมนูญมีขอบเขตแค่ไหน แก้อย่างไร แล้วให้ใครแก้ คำถามประชามติต้องชัดเจน ไม่ชี้นำ

เช่นเดียวกับ วันชัย สอนศิริ ส.ว. ที่ระบุว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับญัตติ และวุฒิสภาไม่ควรประวิงเวลาให้ล่าช้า ควรเร่งลงมติเห็นชอบเพราะจะมีแต่ผลดี พร้อมอธิบายรัฐธรรมนูญกำหนดว่าอำนาจในการทำประชามติอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น จะทำหรือไม่ทำก็ได้ไม่มีกฎหมายใดอีกบังคับให้ทำ รัฐสภาเป็นเพียงผู้ส่งสาส์น หากเราไม่เร่งให้ความเห็นชอบก็เหมือนรับเผือกร้อนไว้

"วุฒิสภาก็ยิ่งเสียไปใหญ่ ถ้าเราคัดค้านไม่ให้แก้ เพราะตอนจะแก้เราก็บอกว่าแก้ไม่ได้ ต้องไปทำประชามติ พอเขาเสนอทำประชามติมา ถ้าเราคัดค้านขึ้นมา ยิ่งเสียกันไปใหญ่ ส.ว.จะเป็นจำเลยของสังคม ในเมื่อ ส.ส.เขาเห็นชอบมาแล้ว"

หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในสมัยนี้ ส.ว.ชุดของเรา ยังมีอำนาจต่อรอง มีอำนาจเสนอประเด็นต่างๆ ตามที่เราต้องการ หากถึงปี 2567 แล้วก็หมดยุคของเราก็ได้แต่ทำตาปริบๆ และท้ายสุด ส.ส. เขาก็จะแก้จนได้

ไม่มีเหตุผลจะคัดค้านประชาชน

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ยืนยันว่า ตนไม่มีเหตุผลที่จะขัดขวางการตัดสินใจของประชาชน ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ กระบวนการนี้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2564 ว่า การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติเสียก่อน และที่สำคัญ เราเคยเคารพรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่มาจากการทำประชามติ จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่เคารพการทำประชามติอีกครั้ง

คำนูณ เห็นด้วยกับสมาชิกหลายท่านว่า ไม่ควรให้ลงประชามติแบบตีเช็คเปล่า ไม่มีกรอบของการแก้ไขที่ชัดเจน แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นกรอบ ยังไม่ถึงขั้นเนื้อหาอะไรเลย เป็นเพียงการถามประชาชนสั้นๆ ง่ายๆ เท่านั้นว่า ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากประชาชนออกเสียงว่าเห็นด้วย ก็ต้องมีการเสนอร่างแก้ไขให้รัฐสภาพิจารณา ถึงเวลานั้นหากสมาชิกฯ จะไม่เห็นชอบกับเนื้อหานั้นก็ได้ และยังต้องทำประชามติอีกครั้งด้วย

"ผมตอบคำถามตัวเองไม่ได้ว่า ผมจะไปคัดค้านประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้อย่างไรกัน และนี่ก็เป็นการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพราะฉะนั้น ผมเห็นด้วยกับญัตตินี้ จะขอยืนยันในความเห็นนี้ จนกว่าจะมีเหตุผลคัดค้านอื่นที่ทรงพลังเพียงพอที่จะทำให้ผมตัดสินใจใหม่ได้"

อย่างไรก็ตาม มี ส.ว. บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติและตั้ง ส.ส.ร. เช่น จเด็จ อินสว่าง ส.ว. ชี้ว่า ความขัดแย้งเสื่อมถอยต่างๆ ในประเทศนั้นไม่ได้เป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีใครมามาครอบงำ ส.ส.หรือไม่ จึงต้องดิ้นรนอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นคำตอบเลยว่า ถ้าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับประเทศชาติและประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร จะแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้หรือไม่ 

"คิดเพียงอยากเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ให้พวกตัวเองมาครองบ้านครองเมือง และส่วนใหญ่ก็จะซื้อสิทธิ์ขายเสียง"

จเด็จ มองว่า ไม่จำเป็นต้องทำประชามติให้สิ้นเปลือง แต่เพียงพิจารณาว่าในเนื้อหาทั้งหมด 17 หมวด มีส่วนใดควรแก้ไขปรับปรุงหรือไม่ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ที่ไม่แตะต้องอยู่แล้ว

ชเสนอตั้งคณะกรรมาธิการฯ ศึกษาเหตุผล

ในช่วงหนึ่ง สมชาย แสวงการ ส.ว. ระบุว่า มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีกรอบ ไม่เช่นนั้นก็สามารถแก้ไขอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับ ส.ส.ร. แม้จะแก้มาตรา 1 ก็ทำได้ 

แต่เมื่อตนพิจารณาดูแล้ว ญัตติที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอมานั้น ยังไม่มีข้อมูลประกอบหลักการและเหตุผลที่ชัดเจนพอให้ลงมติได้ จึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ให้ละเอียดรอบคอบและชัดเจน ก่อนจะลงมติต่อไป

แต่ เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ลุกขึ้นแย้งว่า ข้อเสนอให้ตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาญัตตินั้น ยังเร็วเกินไป ควรฟังความเห็นของ ส.ว.ก่อน อภิปรายความเห็นให้จบเป็นเรื่องไป ขณะที่ สมชาย ชี้แจงว่า ญัตติดังกล่าวของตนยังไม่ตกไป แต่จะให้สมาชิกฯ อภิปรายความเห็นให้ครบถ้วนก่อนได้

จากนั้นได้มี ส.ว.บางส่วนลุกขึ้นอภิปราย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับญัตติเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ศึกษาญัตติ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยเพราะมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีข้อมูลที่ครบถ้วนชัดเจน ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยเห็นว่า การตั้งคณะกรรมาธิการฯ มีเจตนาจะยื้อ และจะทำให้เสียเวลาเปล่าๆ 

สมาชิกวุฒิสภา ประชาชมติ -D050-42F1-A50A-F11C617F034E.jpeg

วุฒิสภาฯ เห็นชอบตั้ง กมธ. ยื้อลงมติประชามติแก้ รธน.

ทำให้ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ประธานการประชุมสั่งให้มีการลงมติว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ หรือไม่ โดยผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ด้วยคะแนน 143 ต่อ 26 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง 

จากนั้น ได้มีการเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 26 คน และเสนอให้มีระยะเวลาพิจารณาศึกษา 30 วัน นับตั้งแต่วันนี้ (21 พ.ย.) เป็นต้นไป