เสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส.ในรัฐสภาอิสราเอล ลงคะแนนผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าวพร้อมให้เหตุผลว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ เป็นพวกทรยศรัฐอิสราเอล ในขณะที่มีเสียงวิจารณ์ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาเหยียดเชื้อชาติ และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ จากกรณีของการทำให้ประชาชนกลายเป็นคนไร้รัฐ
มีประเด็นของการถกเถียงในเรื่องเงินรายเดือน ที่รัฐบาลปาเลสไตน์จ่ายให้แก่นักโทษชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกจับกุมคุมขังจากการโจมตีชาวอิสราเอล หรือครอบครัวของชาวอิสราเอล โดยฝ่ายอิสราเอลระบุว่า นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลปาเลสไตน์ เป็นนโยบาย “จ่ายเพื่อสังหาร” ซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงในอิสราเอลขึ้น ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากมองว่านักโทษในเรือนจำของอิสราเอล เป็นวีรบุรุษในการต่อสู้ชาตินิยมเพื่อพวกเขา และรัฐบาลปาเลสไตน์ถือว่าเงินที่จ่ายให้กับพวกเขาเป็นสวัสดิการสังคม
ทั้งนี้ ในรัฐสภาของอิสราเอลมีข้อเสนอแนะว่า กฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อนักโทษหลายร้อยคน ซึ่งในที่สุดพวกเขาอาจถูกเนรเทศไปยังพื้นที่ส่วนที่ควบคุมโดยรัฐบาลปาเลสไตน์ บริเวณเวสต์แบงก์หรือฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง
หลังจากช่วงเวลาหลายเดือนของความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น การโจมตีของอิสราเอลต่อกลุ่มติดอาวุธในเขตเวสต์แบงก์ และการโจมตีตามท้องถนนของชาวปาเลสไตน์ต่อชาวอิสราเอล มีการสนับสนุนกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างกว้างขวางในรัฐสภาอิสราเอล ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรง มีการลงคะแนนเสียง 94 ต่อ 10 โดยเป็นเสียงจากทั้งสมาชิกของพรรคร่วมรัฐบาลขวาจัด และพรรคฝ่ายค้านที่ต่างลงคะแนนเสียงสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้
โอฟีร์ คัตซ์ สมาชิกรัฐสภาของอิสราเอลจากพรรค Likud ของ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการร่วมที่เตรียมร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยปลอบประโลมครอบครัวผู้เสียชีวิต
“ผมหวังว่าขั้นตอนที่เราดำเนินการในวันนี้จะเป็นอรุณรุ่งแห่งยุคใหม่ ผมรู้และรู้สึกจากก้นบึ้งของหัวใจว่ากฎหมายดังกล่าวคือภารกิจที่แท้จริงของเรา ในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งมา” คัตซ์กล่าว “ผมพูดอย่างชัดเจนว่า ผู้ก่อการร้ายที่รับเงินจากทางการปาเลสไตน์ควรบินจากที่นี่ไปยังกาซา ไม่ก็ไปที่อื่น”
กระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้เป็น “รูปแบบการเหยียดเชื้อชาติที่น่าเกลียดที่สุด” ในขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านที่คัดค้านร่างกฎหมายนี้กล่าวว่า ตัวกฎหมายมีการเลือกปฏิบัติ เพราะมันจะไม่บังคับใช้กับชาวยิวอิสราเอล ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานโจมตีชาวปาเลสไตน์ หรือความผิดร้ายแรงอื่นๆ “ตัวอย่างเช่น ยีกัล อามีร์ ที่สังหารนายกรัฐมนตรี ไม่เพียงแต่สัญชาติของเขาจะไม่ถูกเพิกถอนเท่านั้น มันยังไม่มีข้อเสนอใดๆ เลย” อาห์เหม็ด ตีบี กล่าวโดยอ้างถึงชาวยิวหัวรุนแรง ที่ลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรี ยิตซัค ราบิน
ประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรอิสราเอลเป็นพลเมืองเชื้อสายอาหรับ ซึ่งมักระบุว่าตัวเองเป็นชาวปาเลสไตน์ โดยชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ในเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งอิสราเอลยึดครองได้ในสงครามตะวันออกกลางเมื่อปี 2510 และต่อมาถูกผนวกด้วยความเคลื่อนไหวที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ มีสถานะเป็นผู้พำนักถาวรของอิสราเอล
ที่มา: