ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของวงการโบราณคดี เมื่อนักวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีวัดแสง LiDAR ซึ่งปกติมักใช้ในรถยนต์ไร้คนขับ ค้นพบซากเมืองโบราณขนาดใหญ่ในป่าทึบทางตอนเหนือของประเทศกัวเตมาลา โดยคาดว่าเป็นของอารยธรรมมายาที่เคยรุ่งเรืองเมื่อ 1,500 ปีก่อน และมีประชากรจำนวนมากกว่าที่เคยคาดกันไว้ 3-4 เท่า
มูลนิธิ PACUNAM ที่นำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ได้ทำการสำรวจป่าในประเทศกัวเตมาลา ที่อเมริกากลาง ด้วเทคโนโลยี LiDAR หรือการตรวจจับและวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งมักใช้ในรถยนต์ไร้คนขับ ก่อนจะค้นพบเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกัน เป็นซากอาคารกว่า 60,000 แห่ง โดยการค้นพบนี้ นอกจากจะไม่ต้องตัดต้นไม้สักต้นเพื่อสำรวจแล้ว ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการศึกษาอารยธรรมโบราณ
โดยขนาดของมหานครที่เพิ่งถูกค้นพบนี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจำนวนประชากรของอาณาจักรมายาประมาณ 10 - 15 ล้านคน จากเดิมที่เคยประมาณการว่ามีประชากรมายาราว 5 ล้านคน นอกจากนั้น ยังมีการค้นพบบ้านเรือน พีระมิด พระราชวัง และทางยกระดับ ซึ่งใช้เชื่อมต่อระหว่างเมือง รวมถึงสถานที่ทำงาน เช่น เหมืองต่าง ๆ
โดย LiDAR มักใช้ประโยชน์ในแง่ของการเป็นระบบช่วยให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติตรวจดูสภาพแวดล้อมโดยรอบ แต่ในแง่ของนักวิทยาศาสตร์กลับใช้เทคโนโลยีนี้ในการตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยไม่ต้องรบกวนผืนป่า ซึ่งกัวเตมาลาสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 10 เปอร์เซนต์ต่อปี จากการบุกรุกเพื่อตั้งถิ่นฐานและการเกษตร ทั้งนี้ การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นระยะเริ่มต้นจากแผนทั้งหมด 3 ปี โดยทางมูลนิธิ PACUNAM ยังเตรียมใช้ LiDAR ในการจัดทำแผนที่ใต้ดินในกัวเตมาลาอีกกว่า 5,000 ตารางไมล์ในอนาคต
ทั้งนี้ เทคนิคใหม่ในการสำรวจและวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์ ช่วยให้นักโบราณคดีทำงานได้อย่างรวดเร็วขึ้น แทนที่จะต้องใช้เวลาเดินเท้าในป่าและขุดค้นหาร่องรอยของโบราณสถานเป็นเวลานานหลายปี โดยมีการใช้เทคนิคนี้สำรวจซากเมืองโบราณที่ค้นพบใหม่ใกล้กับนครวัดของกัมพูชามาแล้ว