จีนเปิดตัวโครงการศึกษาอวกาศครั้งใหม่ ที่เน้นศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาล โดยหวังว่าจะได้ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติเข้าร่วมทีมในอนาคต
จีนเปิดตัวโครงการศึกษาอวกาศครั้งใหม่ โดยจะเน้นที่การกำเนิดและวิวัฒนาการของจักรวาล หลุมดำ คลื่นความโน้มถ่วง และความสัมพันธ์ระหว่างระบบสุริยะกับมนุษย์ ซึ่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน หรือ CAS ได้ประกาศจะพัฒนาดาวเทียม 4 ดวง สำหรับโครงการนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ดาวเทียม 'ไอน์สไตน์-โพรบ' (Einstein-Probe) หรือ EP ที่จะค้นหาวัตถุบนท้องฟ้าที่ปล่อยรังสีเอ็กซ์ออกมาในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาวะ
โครงการส่วนหนึ่งจะมุ่งเน้นให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกำเนิดสนามแม่เหล็กสุริยะ ตลอดจนการลุกจ้าและการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์ ขณะที่อีกส่วน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจีนกับยุโรป จะเน้นศึกษาลมสุริยะและแม็กนีโตสเฟียร์ หรือ สนามแม่เหล็กโลก
เบื้องต้น จีนคาดว่าโครงการนี้จะดึงดูดนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมแขนงต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะมายังจีน เพื่อค้นหาข้อมูลใหม่ของจักรวาลร่วมกัน หลังจากที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนเปิดตัวโครงการที่เกี่ยวข้องกับอวกาศมาแล้วมากมาย ทั้งโครงการค้นหาสสารมืดในอวกาศ และโครงการทดลองควอนตัมในอวกาศ