จะดีแค่ไหนถ้าหลักสูตรการศึกษาที่ 'ดีที่สุดในโลก' มาเป็นทางเลือกพัฒนาทักษะเด็กไทยแล้ว ล่าสุด เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็นเวลานานแล้ว ที่การศึกษาของประเทศฟินแลนด์ได้รับการยอมรับว่าเป็นการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ล่าสุด แนวคิดแบบฟินแลนด์ได้ถูกปรับใช้เป็นหลักสูตรการเรียนรู้เสริมในประเทศไทยแล้ว ซึ่งแม้จะไม่ใช่โรงเรียนแบบเต็มเวลา แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รุ่นต่อไปที่น่าสนใจ โดยสถาบันการศึกษาเชิงสร้างสรรค์นี้มีชื่อว่า Arkki (อาร์คกิ) ที่รับหลักสูตรจากกระทรวงศึกษาของฟินแลนด์มาโดยตรง โดยเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย
Arkki ก่อตั้งขึ้นในฟินแลนด์ตั้งแต่ปี 1993 โดย พีห์ลา เมสคาเนน สถาปนิกและคุณครูผู้สอน หนึ่งในสมาชิกของหน่วยงานออกแบบหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติฟินแลนด์ ซึ่งออกมาในรูปของ Arkki School of Architecture for Children and Youth หรือ โรงเรียนสถาปัตยกรรมอาร์คกิสำหรับเด็กและเยาวชน ตามวิชาชีพของเธอ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า โรงเรียนต้องสร้าง 'ผู้รังสรรค์วิชาชีพ' ไม่ใช่ 'ผู้แสวงหาวิชาชีพ' (We build job creators, not job seekers) เพราะเราทุกคนกำลังเข้าสู่ยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ รวมถึงเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เด็กเติบโจมาเอาชนะเอไอได้ก็คือ Creative and innovative Mindset หรือ 'กระบวนคิดเชิงริเริ่มสร้างสรรค์' นั่นเอง จึงเกิดเป็นหลักสูตร Creative Education ที่สามารถปรับใช้ได้เข้ากับทุกวัฒนธรรมการเรียนรู้
Voice TV เองก็เคยทำสกูป Back to School เน้นย้ำนำเสนอในประเด็นนี้เมื่อกลางปี 2017 ซึ่งครั้งนั้นอ้างอิงรายงานของ World Economic Forum ที่รวบรวม 7 เหตุผลที่ทำให้การศึกษาฟินแลนด์กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาการศึกษาในทุกประเทศ นั่นก็คือ
1. 'แข่งขันไม่สำคัญเท่าร่วมมือ' หรือก็คือสถาบันต่าง ๆ ไม่แข่งกันสร้างชื่อเสียงเพื่อดึงดูดนักเรียน
2. ครูเป็นอาชีพมีศักดิ์ศรีและรายได้สูง ผู้ที่จะเป็นครู ต้องเป็นบุคลากรระดับหัวกะทิของประเทศ
3. การศึกษาอยู่บนรากฐานของงานวิจัย คือ หากงานวิจัยใดพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าการเรียนการสอนแบบใดมีประสิทธิภาพ ก็จะถูกนำมาปรับเป็นนโยบายทันที หรืออธิบายอีกนัยหนึ่งก็คือ นโยบายการศึกษาในฟินแลนด์ไม่ได้ขับเคลื่อนโดยการเมือง
4. 'ฟินแลนด์ไม่กลัวที่จะทดลอง' คุณครูในฟินแลนด์ได้รับการสนับสนุนให้ถือห้องเรียนเป็นห้องทดลอง ไม่ว่าจะเป็นการสอนหรือกิจกรรมแบบไหน ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในห้องเรียนหากครูและนักเรียนเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
5. 'เวลาเล่นศักดิ์สิทธิ์เท่าเวลาเรียน' เด็กควรต้องรักษาความเป็นเด็กไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ไม่จำเป็นต้องรีบโตขึ้นมาเป็นนักท่องจำหรือนักทำข้อสอบ
6. เด็กมีการบ้านน้อยมาก คือเมื่อพ่อแม่และโรงเรียนเชื่อมั่นว่าครูได้ใช้เวลาในห้องเรียนอย่างเต็มประสิทธิภาพเพียงพอแล้ว การบ้านก็เป็นเรื่องไม่จำเป็น และเด็กควรใช้เวลาอยู่กับครอบครัว
7. 'อนุบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน' เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมเด็กเข้าสู่โรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
น่าสนใจว่า หากเด็กไทยได้เรียนรู้ภายใต้กรอบความคิดแบบฟินแลนด์ หรือก็คือ 'นอกกรอบความคิดเดิม' แล้ว จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในตัวเองได้มากขนาดไหน เบื้องต้น ดอกเตอร์พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki ประเทศไทย กล่าวว่า การสอนเด็กให้ไปเผชิญกับเอไอต้องเน้นการ 'เรียนเพื่อเรียนรู้' (Learn how to learn) ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของพ่อแม่ ที่ส่วนใหญ่โตมาในระบบความคิดแบบไทย สุดท้ายแล้วการเรียนรู้ที่ดีก็คือ การเรียนรู้ไปด้วยกัน พ่อแม่ต้องเปิดใจและมีส่วนร่วมกับสิ่งที่เด็กได้รับไปพร้อม ๆ กัน
ด้านหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง สุฐิตา ปัญญายงค์ กล่าวเห็นด้วยที่ว่าตัว��ธอในฐานะแม่ ก็ต้องเริ่มเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก ๆ ในหลักสูตรแบบ Arkki ด้วย ทั้งยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของ 21st Century Skills และการที่ STEM (Science , Technology , Engineering , Mathematics) ไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องเป็น STE"A"M ที่เพิ่ม A หรือ Art and Creativity เข้ามาด้วย
Arkki ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ Bambini Villa สุขุมวิท 26 รายละเอียดเพิ่มเติมที่ arkki.co.th และเฟซบุ๊ก Arkki Thailand