แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศเวเนซุเอลาจะย่ำแย่ แต่วิศวกรรุ่นใหม่สองคนได้ร่วมมือกันนำพลาสติกจากกองขยะอิเล็กโทรนิกส์ มาสร้างสรรค์เป็นอะไหล่รถยนต์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า
สองวิศวกรจากเวเนซุเอลา ‘อัลเบอร์มาร์ โดมินเกวซ (Albermar Dominguez)’ และ ‘จอห์น เนซซีร์ (John Naizzir)’ ได้นำขยะพลาสติกมาหลอมละลาย ก่อนจะนำของเหลวที่ได้ไปใส่ในเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อผลิตชิ้นส่วนที่ดูซับซ้อน เช่น อะไหล่รถยนต์ ที่หาได้ยากในประเทศ หลังจากที่เวเนซุเอลาได้เพิ่มมาตรการควบคุมระบบสกุลเงิน และสั่งห้ามนำเข้าวัสดุพื้นฐานเหล่านี้
แม้ว่าตอนนี้จะผลิตเส้นใยพลาสติกได้เพียงหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน แต่วิศวกรทั้งคู่ต่างตั้งใจที่จะพัฒนาอุปกรณ์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมการผลิต ให้สามารถซื้อยางได้ในราคาที่ถูกลง และไม่ต้องพึ่งการนำเข้าสินค้าอีกต่อไป
โดยโดมินเกวซได้เดินทางไปศึกษาอุตสาหกรรมการพิมพ์สามมิติที่อเมริกา ก่อนจะกลับมาที่เวเนซุเอลา และร่วมมือกับเนซซีร์ ซึ่งทั้งคู่เริ่มต้นจากการเก็บขยะบริเวณมหาวิทยาลัย ทั้งเคสคอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์เก่า หลังจากนั้น บริษัทเนดรากิ (Nedraki) ของทั้งสอง ได้เซ็นสัญญากับโรงงานรีไซเคิลของเมืองวาเลนเซีย เพื่อที่จะได้วัสดุมาแปรรูปเพิ่มขึ้น
ทั้งสองผลิตเส้นใยพลาสติกเมตรแรกได้สำเร็จในปี 2017 โดยตอนนี้บริษัทของทั้งคู่สามารถส่งเส้นใยพลาสติกให้กับ 13 บริษัทในเวเนซุเอลา และยังผลิตอะไหล่ให้กับอีกหลายบริษัท โดยคิดราคาเส้นใยที่กิโลเมตรละ 17 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 560 บาท
โดมินเกวซเผยว่า เส้นใยของพวกเขาช่วยลดต้นทุนของบริษัทได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ต้องเสียค่านำเข้าและขนส่งสินค้า โดยตอนนี้ทีมงานพยายามกระตุ้นให้บริษัทในเวเนซุเอลาหันมาใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติให้มากขึ้น