นักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษและสหรัฐฯ ร่วมคิดค้นเอนไซม์ปรับพันธุกรรม ที่เปลี่ยนขยะจากพืชให้กลายเป็นวัสดุใช้ได้ใหม่
ทีมนักวิทยาศาสตร์หลายสถาบันรวมตัวคิดค้นเอนไซม์ปรับพันธุกรรม ที่จะเปลี่ยนไม้หรือขยะจากพืชให้กลายเป็นวัสดุ เช่น ไนลอนหรือพลาสติก เพิ่มความยั่งยืนในการใช้งาน โดยศาสตราจารย์ จอห์น แมกกีฮาน ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมเอนไซม์ มหาวิทยาลัยพอร์ตสมัท ในอังกฤษ เปิดเผยว่าทีมวิจัยต้องการเปลี่ยนปฏิกูลจากพืชให้กลายเป็นสิ่งที่ใช้งานต่อได้ โดยหลีกเลี่ยงการใช้ปิโตรเคมีและน้ำมัน
ผลงานจากการคิดค้นครั้งนี้เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences หรือ PNAS โดยทีมงานจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัท มหาวิทยาลัยรัฐมอนทานา มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย และศูนย์ทดลองพลังงานสะอาดแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นทีมเดียวกับที่คิดค้นเอนไซม์ย่อยพลาสติก สำหรับนำไปใช้ในการรีไซเคิลขยะพลาสติก เมื่อปีที่แล้ว
เอนไซม์ปรับพันธุกรรมนี้ทำงานได้โดยอาศัยลิกนิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อพืช โดยถือเป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติจากพืชที่แข็งแกร่งที่สุด ทำหน้าที่ช่วยเคลือบไม้ให้คงทนและปกป้องไม้จากแบคทีเรีย การสร้างวัสดุหรือผลิตภัณฑ์จากลิกนินเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม เพราะจะเป็นการลดปริมาณการใช้น้ำมัน และลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศไปในตัว