ปัจจุบันมีการพัฒนาหุ่นยนต์ให้นำไปใช้ได้ในหลายวงการ รวมถึงแวดวงศิลปะด้วยเช่นกัน โดยล่าสุด ได้มีการจัดแข่งขันหุ่นยนต์วาดภาพในงาน Roboart (โรโบอาร์ต) ซึ่งทีมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศที่ 3 ไปครองได้สำเร็จ
จัดต่อเนื่องเป็นปีที่สาม สำหรับการแข่งขัน Roboart ที่ให้หุ่นยนต์จากทั่วโลกมาประชันฝีมือในการวาดภาพศิลปะ ซึ่งริเริ่มโดยแอนดรูว คอนรู (Andrew Conru) อาจารย์คณะวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด อเมริกา โดยปีนี้มีผลงานส่งมาร่วมประกวดบนเว็บไซต์รวม 100 ชิ้น จาก 19 ทีมทั่วโลก โดยพิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถของหุ่นยนต์ และงานศิลปะชิ้นนั้นต้องขายได้ด้วยเช่นกัน
สำหรับผู้ชนะในปีนี้ได้มาจากการรวมคะแนนของศิลปิน นักวิจารณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และยังเปิดโอกาสให้สาธารณชนร่วมลงคะแนนให้กับภาพที่ชื่นชอบ ซึ่งรางวัลชนะเลิศตกเป็นของทีม CloudPainter จากสหรัฐอเมริกา ที่คว้าเงินไปได้ 4 หมื่นดอลลาร์ หรือประมาณ 1,300,000 บาท จากการนำเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงมาใช้วาดภาพบุคคลแนวนามธรรม และทำซ้ำภาพทิวทัศน์ของศิลปินดังอย่าง ‘เซซานน์ (Cezanne)’
ที่สองเป็นของทีม Creative Machines Lab จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในอเมริกา แชมป์เก่าปีที่แล้ว ที่ยังคงสร้างสรรค์งานแนวอิมเพรสชันนิสต์ ซึ่งโดดเด่นด้วยการตวัดฝีแปรง
อันดับสามเป็นของทีม CMIT ReART จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของไทย ซึ่งตกมาจากอันดับสองในปีที่แล้ว รับเงินรางวัลไปหนึ่งหมื่นดอลลาร์ หรือราว 3 แสนบาท โดยใช้หุ่นยนต์ Delta Robot มาลอกเลียนกระบวนการทำงานของศิลปิน และยังคงเอกลักษณ์ในการวาดภาพหมึก พร้อมนำภาพทิวทัศน์ของศิลปินดังมาสร้างสรรค์ใหม่ เช่น ภาพ ‘ทุ่งข้าวสาลีกับต้นสนไซเปรส’ ของแวนโก๊ะ
Source
YouTube/ Pindar Van Arman
YouTube/ Chowarit Mitsantisuk