นักวิจัยจากหลายสถาบันพัฒนา 'เอไอ' ให้ใช้ในการแพทย์ ทั้งโรคเกี่ยวกับดวงตา, ตรวจสอบการตั้งครรภ์, ค้นหาเซลล์มะเร็ง และเตือนภาวะไตล้มเหลว
เมื่อพูดถึงการวินิจฉัยโรคต่างๆ ความเชื่อมั่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในปัจจุบันยังคงเทไปให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม ด้วยวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยี และแนวโน้มการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายฝ่ายจึงออกมาผลักดันการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เพื่อช่วยเหลือในวงการแพทย์มากขึ้น
ปัญญาประดิษฐ์และดวงตา 'เพียซ คีน' จักษุแพทย์ให้คำปรึกษา จากโรงพยาบาลจักษุมอร์ฟิลด์ ออกมาให้สัมภาณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วว่า แพทย์ต้องเผชิญหน้ากับผู้ป่วยจำนวนมาก จนทำให้ผู้ป่วยบางคนต้องสูญเสียการมองเห็นไปอย่างรักษาไม่หาย เพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดีในวงการแพทย์ หากจะมีเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มศักยภาพให้กับเครื่องตรวจจอประสาทตาของผู้ป่วย
นอกจากนี้ เพียซ ยังไปร่วมงานกับ 'ดีปมายด์' ศูนย์วิจัยเอไอในอังกฤษที่มีกูเกิลเป็นเจ้าของ เพื่อพัฒนาอัลกอริทึมที่ทำการศึกษาภาพม่านตามนุษย์กว่า 14,884 ม่านตา จนสามารถวินัจฉัยได้ภายในเวลา 30 วินาที สามารถวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับดวงตาที่แตกต่างกันได้กว่า 50 โรค เช่น ต้อหิน เบาหวานเข้าจอประสาทตา การเสื่อมสภาพตามอายุ ทั้งยังสามารถให้คำแนะนำกับผู้ป่วยได้ด้วยว่าควรปฏิบัติตนอย่างไรระหว่างการรักษา
ส่งเสริมเด็กหลอดแก้ว นักวิทยาศาสตร์จาก เวลล์ หน่วยวิจัยทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนล กำลังพัฒนาระบบอัลกอริทึมที่มีความสามารถในการเรียนรู้ระดับลึกในการบ่งชี้ว่าตัวอ่อนของทารกในระยะแรก หรือ 'เอ็มบริโอ' ใดที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะพัฒนาและเติบโตในการตั้งครรภ์ในระหว่างกระบวนการปฏิสนธินอกร่างการ หรือ 'การทำเด็กหลอดแก้ว' สำหรับผู้ที่มีบุตรยาก
ตามข้อมูลจากวารสารทางการแพทย์ดิจิทัล เอ็นพีเจอัลกอริทึมที่มีชื่อว่า 'สตอร์ก' สามารถวิเคราะห์สุขภาพของเอ็มบริโอที่ดีและไม่ดีได้จากภาพถ่ายแบบเหลื่อมเวลา หรือ 'ไทม์แลปส์' ซึ่งโดยปกติต้องให้นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อนเป็นคนทำ และมีอัตราความถูกต้องถึงร้อยละ 97 ซึ่ง
คาดการณ์ความเสี่ยงมะเร็ง หนึ่งในงานพัฒนาของภาควิทยาการคอมพิวเตอร์และห้องทดลองเอไอ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) สามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มจะเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือไม่โดยวินิจฉัยจากภาพเอกซเรย์ โดยต้นแบบเทคโนโลยีนี้ต้องศึกษาภาพเอกซเรย์เต้านมของผู้หญิงกว่า 60,000 คน เพื่อเรียนรู้รูปแบบเนื้อเยื่อที่จะพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ซึ่งตาของมนุษย์มองไม่เห็น
ผลลัพธ์ที่ออกมาพบว่า เทคโนโลยีนี้มีความสามารถในการวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไว้ในประเภทผู้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งถึงร้อยละ 31 แม่นยำกว่ารูปแบบเดิมที่ทำได้แค่ร้อยละ 18 เท่านั้น โดย 'เรจินา บาร์ซิเลย์' อาจารย์จากสถาบันเอ็มไอทีและอดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกล่าวว่า เธอเคยลองนำภาพเอกซเรย์เต้านมของตนมาผ่านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ที่ชี้ว่าเธอมีความเสี่ยงการมะเร็งสูง 2 ปีก่อนที่เธอจะถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมจริงๆ
เตือนก่อนไตล้มเหลว งานวิจัยและพัฒนาอีกหนึ่งชิ้นของ 'ดีปมายด์' ที่ร่วมกับ กระทรวงการทหารผ่านศึกสหรัฐฯ เก็บตัวอย่างประวัติการรักษาทางการแพทย์ของทหารกว่า 700,000 ราย ในการศึกษาเพื่อให้ เอไอ สามารถเตือนทีมแพทย์ถึงภาวะไตวายเฉียบพลันได้ โดยเอไอจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลนับ 10 ปี ของทหารแต่ละรายเพื่อสร้างสูตรในการวินิจฉัยความผิดปกติ โดยผลลัพธ์ของการศึกษานี้ ทำให้เอไอสามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องจากคนไข้ 9 ใน 10 คน ซึ่งทำได้ดีกว่าเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันถึงเกือบ 2 เท่า
หนึ่งในอุปสรรคพื้นฐานสำหรับการนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาใช้ในวงการแพทย์ คือ เทคโนโลยีเหล่านี้เรียกร้องการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชากรจำนวนมาก และข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่แค่ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป แต่เป็นข้อมูลอ่อนไหวที่เกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของบุคคลนั้นๆ โดยเฉพาะ ก่อนที่เทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ได้จริง นอกจากจะต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าได้มาตรฐานเรื่องประสิทธิภาพ ภาครัฐก็ควรเข้ามาตรวจสอบและตั้งกฏเรื่องการดูแลข้อมูลประชากรที่ต้องถูกนำไปใช้ในการศึกษาและพัฒนาในถี่ถ้วนด้วยเช่นเดียวกัน