แซม สมิธ ศิลปินชาวอังกฤษ ประกาศใช้คำว่า they และ them สรรพนามที่ไม่เจาะจงเพศแทน หลังก่อนหน้านี้ประกาศตัวว่ามีเพศสภาพที่ไม่ใช่ทั้งชายและหญิง
ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม แซม สมิธ นักร้องชื่อดังชาวอังกฤษ เจ้าของเพลงดังหลักพันล้านวิวในยูทูบ ประกาศตัวว่าเป็น นอน-ไบนารี (non-binary) ซึ่งเป็นคำที่ใช้นิยามเพศสภาพที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบสองเพศ คืออาจจะมีทั้งความเป็นเพศชายและเพศหญิง อยู่ระหว่างกลางทั้งสองเพศ เป็นเพศที่สาม ไม่มีเพศ หรือมีความเลื่อนไหลทางเพศก็ได้ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิง หรือเป็นเกย์
ล่าสุด วันที่ 14 กันยายน แซม สมิธ ประกาศว่าจะใช้สรรพนาม เดย์และเด็ม (they/them) ซึ่งเป็นสรรพนามที่ไม่เจาะจงเพศเรียกตัวเองแทน หลังจากได้รบรากับเพศสภาพของตัวเองมาทั้งชีวิต จึงตัดสินใจว่าจะโอบรับสิ่งที่ตัวเองเป็นในทุกแง่มุม
ซึ่งแซม สมิธ กล่าวว่าแม้จะกลัวอยู่บ้าง แต่ตอนนี้ก็รู้สึกเป็นอิสระสุดๆ พร้อมทิ้งท้ายว่าในขณะนี้ ยังไม่อยู่ในจุดที่จะบอกได้เต็มปากว่าที่เคยบอกว่าเป็นนอน-ไบนารีนั้นหมายความว่าอย่างไร แต่ก็หวังว่าจะถึงวันนั้นโดยเร็ว สำหรับตอนนี้เพียงอยากจะเปิดเผยและให้ทุกคนรับรู้เท่านั้น
เรื่องนี้อาจจะเข้าใจยากเมื่อมองจากมุมของผู้ใช้ภาษาไทย เพราะโดยปกติแล้วสรรพนามในภาษาอังกฤษจะมีการแบ่งเพศชัดเจน เมื่อกล่าวถึงผู้ชายจะใช้สรรพนามคำว่า ‘ฮี’ (he) เมื่อเป็นประธานของประโยค และใช้คำว่า ‘ฮิม’ (him) ซึ่งถูกถอดความเป็นคำว่า ‘เขา’ ในภาษาไทย เมื่อเป็นกรรมของประโยค ขณะที่เมื่อกล่าวถึงผู้หญิงจะใช้ ‘ชี’ และ ‘เฮอร์’ (she/her) ในภาษาไทยจะแปลว่า ‘เธอ’ จะเห็นได้ว่าสรรพนามทั้งสองมีการแบ่งชัดเจนว่าผู้ที่ถูกกล่าวถึงนั้น ต้องเป็นผู้ชาย ไม่ก็ผู้หญิงเท่านั้น
สำหรับ ‘เดย์และเด็ม’ (they/them) ปกติใช้กล่าวถึงคนหลายคน และถอดความเป็นภาษาไทยว่า ‘พวกเขา’ เป็นพหูพจน์ ทว่าเดย์และเด็มที่แซม สมิธพูด ถึงนั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ซิงกูลาร์เดย์’ (singular they) หรือเดย์ในรูปของคำเอกพจน์ ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสรรพนามไม่ระบุเพศ ว่าคนที่ถูกกล่าวถึงนั้นเป็นเพศชายหรือหญิงแทนคำว่า ฮี หรือ ชี
ทั้งนี้ การใช้ซิงกูลาร์เดย์ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการใช้มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 14 แต่ในขณะใช้เพื่อกล่าวถึงคนที่ไม่ทราบเพศว่าเป็นชายหรือหญิง ต่างจากความหมายที่ใช้ในปัจจุบันที่ใช้กล่าวถึงคนที่รู้ว่าร่างกายมีเพศใด แต่ไม่ประสงค์จะถูกระบุตัวตนตามเพศนั้น
เมอร์เรียมเว็บสเตอร์ (Merriam-Webster) บริษัทจัดทำหนังสืออ้างอิงและดิกชันนารี ชี้ว่าในช่วงศตวรรษที่ 17 กฎหมายอังกฤษเริ่มมีการคำนึงถึงสรรพนามเรียกผู้ที่ไม่ได้เป็นทั้งหญิงและชาย โดยใช้คำว่า อิต (it) แทน ทว่านั่นนับเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ เนื่องจากปกติอิตเป็นคำที่ใช้เรียก สัตว์ สิ่งของ สถานที่ และทารกไม่ทราบเพศเท่านั้น
นอกจากซิงกูลาร์เดย์แล้ว ยังมีการรณรงค์ให้ใช้สรรพนามอื่นๆ อีกมากเนื่องจากคำว่าเดย์และเด็มอาจทำให้เกิดความสับสนทางไวยากรณ์ แต่ซิงกูลาร์เดย์ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน โดยรายงานในปี 2019 ของเจนเดอร์เซนซัส (Gender Cencus) เผยว่าสำรวจคน 11,242 คนทั่วโลก พบว่าคำว่า เดย์/เด็ม มีผู้ใช้ 79.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สรรพนามไม่ระบุเพศอื่นมีผู้ใช้น้อยกว่ามาก เช่น คำว่า ซี/เซ็ม (xe/xem) มีผู้ใช้ 7.2 เปอร์เซ็นต์ และคำว่า ซี/เฮียร์ (ze/hir) มีผู้ใช้ 4.7 เปอร์เซ็นต์
แม้การเปลี่ยนความหมายของสรรพนามที่ใช้กันมาอย่างยาวนานอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่ในอดีตก็เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว เช่น คำว่า ยู (you) ซึ่่งใช้เรียกคนที่สนทนาด้วย โดยอาจแปลว่า 'คุณ' เดิมทีก็เป็นสรรพนามพหูพจน์อย่างเดียวมาก่อน ไม่ต่างจากคำว่าเดย์ในปัจจุบัน