ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา 'ฟอเรฟเวอร์ ทเวนตี้วัน' ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์สินจากภาวะล้มละลายไปเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อพนักงานจำนวนมากที่จะต้องตกงาน
Forever 21 ถือเป็นบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในช่วงก่อนปี 2010 เพราะแบรนด์นี้พุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นเด็กสาววัยรุ่น และมีจุดขายที่การตอบสนองความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแฟชั่น แต่หลังจากธุรกิจเสื้อผ้าออนไลน์ขยายตัวขึ้น ก็ทำให้ธุรกิจเสื้อผ้าที่มี 'หน้าร้าน' ได้รับผลกระทบอย่างไม่มีทางเลี่ยง
แม้แต่ 'ฟอเรฟเวอร์ ทเวนตี้วัน' ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นยอดนิยมในหมู่วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มทำงาน ก็ได้รับผลกระทบจากธุรกิจแฟชั่นและร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์เช่นกัน และบริษัทไม่สามารถแบกรับภาระค่าเช่าร้านในทำเลทองต่างๆ ได้อีกต่อไป นำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลในสหรัฐฯ เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์สินจากภาวะล้มละลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายในสหรัฐฯ
หลังจากยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ทางบริษัทจะเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการปิดร้านสาขาประมาณ 178 แห่ง จากจำนวนทั้งหมดกว่า 800 แห่งทั่วโลก เพื่อลดต้นทุนด้านค่าเช่า ซึ่งทางบริษัทแถลงความเชื่อมั่นว่า หลังจากปิดร้านสาขาเหล่านี้แล้ว จะช่วยบริษัทลดต้นทุนลงไปได้ และจะทำให้บริษัทมีรายได้และผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำให้บริษัทดำเนินการด้านธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ประสบภาวะล้มละลาย
ผู้ที่จะได้รับผลกระทบหลักๆ ทางด้านนี้โดยตรงก็คือพนักงานนับพันคนที่จะต้องเข้าสู่การเจรจาเลิกจ้าง หรือย้ายสาขาที่ทำงาน รวมไปถึงการเจรจาเพื่อรับเงินชดเชยจากบริษัท ซึ่งตอนนี้ยังไม่อาจประเมินได้ว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนเท่าไหร่แน่ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานบริษัทจะสามารถชี้แจงให้พนักงานรับฟังอย่างชัดเจน
ส่วน 'โดวอนชาง' และ 'จินซุก' คู่สามีภรรยาเชื้อสายเกาหลี ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอเรฟเวอร์ ทเวนตี้วัน ในสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 1984 ยังคงเป็นเศรษฐีพันล้านในสหรัฐฯ อยู่เหมือนเดิม เพราะฟอร์บสรายงานว่า ทรัพย์สินของทั้งคู่รวมกันอยู่ที่ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่ผ่านมา หรือประมาณ 46,500 (4 หมื่น 6 พัน 5 ร้อย) ล้านบาท และทั้งคู่ยังมีกิจการบริษัทเอกชนอื่นๆ นอกเหนือจากแบรนด์เสื้อผ้าอีกหลายอย่าง และมีพนักงานในความดูแลรวมกว่า 30,000 คนทั่วโลก
นักวิเคราะห์เศรษฐกิจประเมินว่า การยื่นพิทักษ์ทรัพย์สินฯ ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขอเวลาในการปรับโครงสร้างและขนาดของธุรกิจ ซึ่งจะเป็นผลดีกับฟอเรฟเวอร์ ทเวนตี้วัน ที่อยู่ในสหรัฐฯ และละตินอเมริกา แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของสาขาที่อยู่ในเอเชียและยุโรป ซึ่งทางบริษัทระบุในแถลงการณ์ว่า ต้องการจะถอนตัวออกมา เพื่อพุ่งเป้าหมายไปที่ธุรกิจในเม็กซิโกและประเทศแถบละตินอเมริกาอย่างจริงจัง และจะไม่ทิ้งธุรกิจในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ เป็นอันขาด
นักวิเคราะห์ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นค้าปลีกในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่ได้มีแค่ 'ฟอเรฟเวอร์ ทเวนตี้วัน' เพียงอย่างเดียว แต่แบรนด์อื่นๆ เช่น 'เพย์เลส' และ 'จิมโบรี' ก็ต้องยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์สินจากภาวะล้มละลายมาก่อนแล้ว เพื่อขอเวลาไปปรับโครงสร้างองค์กร
ส่วนซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ยอดรวมของร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นที่ต้องปิดตัวลงในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 8,200 แห่ง และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวอาจจะเพิ่มถึง 12,000 แห่งภายในช่วงสิ้นปีนี้ สะท้อนว่ากลุ่มธุรกิจต้องปรับตัวกันอย่างมาก ซึ่งบางกรณีเป็นเพราะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งออกมาตรการกีดกันทางการค้าและขึ้นภาษีนำเข้า และยังไม่มีทีท่าว่าทั้งสองฝ่ายจะเจรจายุติความขัดแย้งได้อย่างจริงจัง เพราะยังทำได้แค่เพียงเจรจาต่อรองผ่อนผันมาตรการต่างๆ อยู่เป็นระยะเท่านั้น