สถาบันอุดมศึกษาไทย 3 แห่งยังติดกลุ่มมหาวิทยาลัยคุณภาพ 1,000 อันดับแรกของโลก โดยปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของมหาวิทยาลัย คือ อัตราการมีงานทำของผู้ที่จบการศึกษา
องค์กรไม่แสวงผลกำไร Center for World University Rankings (CWUR) เผยผลการจัดอันดับสถาบันการศึกษาประจำปี 2017 จากการสำรวจกลุ่มสถาบันอุดมศึกษากว่า 27,770 แห่งใน 61 ประเทศทั่วโลก พบว่ามหาวิทยาลัยไทย 3 แห่งยังมีคะแนนติดอันดับอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยระดับคุณภาพ 1,000 แห่งแรกของโลกเช่นเดียวกับปีที่แล้ว ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผลจัดอันดับของ CWUR ในปีนี้พบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับที่ 308 ขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับ 320 เมื่อปีที่แล้ว ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ที่อันดับ 518 ขึ้นจากอันดับเดิม 522 แต่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ติดอันดับ 846 ในปีนี้ โดยตกจากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่ 808 เมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่ได้มีการระบุเหตุผลที่ทำให้คะแนนรวมของมหาวิทยาลัยลดลง
ส่วนมหาวิทยาลัยที่มีคะแนนรวมด้านวิชาการในทุกด้านรวมกันมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ (1-3) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ (MIT) ซึ่งเป็นสถาบันในสหรัฐฯ และอันดับ 4-5 ได้แก่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ส่วนอันดับ 6-10 ได้แก่ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ มหาวิทยาลัยชิคาโก มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยเยลส์ในสหรัฐฯ
CWUR มีเกณฑ์การพิจารณาคะแนนให้แก่สถาบันต่างๆ โดยประเมินจากคุณภาพของหลักสูตรการศึกษา อัตราการมีงานทำของบัณฑิต ผลงานของคณาจารย์ที่ได้รับรางวัล การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานของคณาจารย์ในวารวารวิชาการต่างๆ จำนวนบทความทางวิชาการที่ได้รับการอ้างอิง ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่าสถาบันมีอิทธิพลต่อแวดวงการศึกษามากน้อยเพียงไร รวมถึงความนิยมที่ได้รับในกลุ่มผู้ปกครองในแต่ละประเทศ
สำนักงานใหญ่ของ CWUR อยู่ในซาอุดีอาระเบีย ขณะที่สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในระดับโลก จะรวมถึง Times Higher Education จากประเทศอังกฤษ, สถาบัน Academic Ranking of World Universities หรือ ARWU ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทงในจีน และสถาบัน QS World University Rankings ของอังกฤษ ซึ่งจะแยกการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในทวีปเอเชียโดยเฉพาะด้วย