นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ ได้ค้นพบวิธีการตัดแต่งพันธุกรรมข้าวโพดให้สามารถผลิตสารอาหารประเภทโปรตีน แบบเดียวกับที่พบในเนื้อสัตว์แล้ว โดยใส่ยีนที่มีหน้าที่ผลิตโปรตีนของแบคทีเรีย E. Coli (อีโคไล) เข้าไปในพันธุกรรมของข้าวโพดได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าวิธีการนี้ช่วยให้ข้าวโพดมีโปรตีนเพิ่มสูงขึ้นถึง 57% เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ใช้วิธีใส่โปรตีนสังเคราะห์เข้าไปในเมล็ดพันธุ์ ซึ่งนอกจากจะให้คุณค่าทางอาหารไม่สูงเท่าแล้ว ยังมีต้นทุนที่สูงกว่ามากอีกด้วย
ทีมนักวิจัยยังเปิดเผยต่ออีกว่า วิธีการตัดต่อพันธุกรรมข้าวโพดด้วยยีนของแบคทีเรียที่ช่วยสร้างโปรตีนนั้น จะสามารถทำได้จริงเพื่อวางจำหน่ายในตลาดทั่วไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ก็อาจมีอุปสรรคสำคัญในเรื่องของข้อกฎหมายด้านพันธุวิศวกรรม รวมไปถึงความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องผลกระทบทางสุขภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยได้เตรียมทางออกไว้รองรับในกรณีที่การตัดต่อพันธุกรรมยังไม่เป็น ที่ยอมรับ เพราะได้มีการพิจารณาแนวทางเพิ่มสารอาหารประเภทกำมะถันให้กับข้าวโพดเพื่อ สร้างโปรตีน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเพิ่มเติม และได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป แต่ก็จะมีประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์และการบริโภคของมนุษย์