พวกคนจนชอบขี้เกียจ พวกคนจนไม่มีวินัยทางการเงิน เป็นความจนซ้ำซาก ทำตัวเองให้จน แล้วงอมืองอเท้ารอความช่วยเหลือจากรัฐบาลความคิดนี้ไม่ได้มีเฉพาะสังคมไทยเท่านั้น แต่ที่สหรัฐอเมริกาก็มีมายาคติเช่นนี้เหมือนกัน
ในบทความ The American Myth That Hard work is A Cure - All For Poverty เขียนโดย Telaina Eriksen ได้กล่าวถึงมายาคติของสังคมอเมริกันว่า “การทำงานหนัก คือ ยารักษาความจน”
สังคมอเมริกันยังมีมายาคติที่ว่า “ถ้าคุณยากจน แสดงว่าคุณมีความบกพร่องทางศีลธรรม” ก็คือ ขี้เกียจ ทำงานไม่หนักพอ ที่จนอยู่แบบนี้เพราะเพราะทำตัวเอง เชื่อว่าคนจนใช้เงินเกินตัว ดื่มเหล้า เล่นการพนัน ไม่ใฝ่หาความรู้ ไม่ดูแลสุขภาพ กินอาหารไม่มีประโยชน์ ว่าคนจนนั้นสมควรที่จะจนเยี่ยงนี้ต่อไป
ผู้เขียนยกตัวอย่างพ่อของเธอ ต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่เกรด 8 เพื่อมาทำงานในโรงงานที่อุณหภูมิสูงได้ถึง 105 ฟาเรนไฮต์ สุดท้าย เป็นโรคเอ็นข้อศอกอักเสบ โรคปวดหลังเรื้อรัง โรคปวดข้อที่มือทั้งสองข้าง
พ่อของเธอทำงานควบสองแห่ง งานโรงงานและงานก่อสร้าง
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า พ่อของเธอไม่ได้ทำงานหนัก แต่ถามว่ายังจนอยู่ไหม ก็ยังตอบได้ว่า “ยังจนอยู่”
แต่ตัวเธอมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร?
จากการทำงานหนักของพ่อก็ส่วนหนึ่ง แต่ก็แค่พอเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัวเท่านั้น คำตอบที่แท้จริงคือ “การศึกษา” การศึกษาดีๆต่างหากที่ช่วยให้เธอหลุดพ้นจากความจน
การทำงานหนักไม่ใช่หนทางที่จะหลุดพ้นจากความยากจน
จะทำงานดีกว่านี้ก็ต้องได้รับกากรศึกษา หรือได้รับการฝึกทักษะอาชีพ แต่เวลาจะซักผ้ายังไม่มี จะเอาเวลาที่ไหนไปหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะได้งานที่ดีกว่านี้
ในสังคมอเมริกัน เหตุที่ทำให้คนล้มละลายมากที่สุดมาจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เป็นเพราะทำงานหนักไม่พอหรือเปล่า?
ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยในสังคมอเมริกัน ไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจ แต่เกิดจากความไม่เป็นธรรมในการกระจายความมั่งคั่ง และการกระจายโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตขิงพลเมืองต่างหาก