สงครามไม่ใช่ทางออกของปัญหา ทุกฝ่ายต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “รบแล้วชนะ แล้วจะได้อะไร?”
สถานการณ์ชายแดนไทย- กัมพูชา มาถึงจุดพลิกผันสำคัญ เมื่อเกิดสถานการณ์สู้รบระหว่างกำลังทหารของทั้งสองฝ่าย ด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ตามมาด้วยการปะทะกันอีกหลายระลอก
ท่าทีของฝ่ายกัมพูชาชัดเจนว่าต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงกรณีพิพาทไทย – กัมพูชา อันเนื่องมาจากปราสาทพระวิหาร และพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ส่วนฝ่ายไทย ยืนยันจุดยืนเดิมคือต้องการจำกัดปัญหาไว้ภายใต้กรอบการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งสองประเทศ
รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ฯ มองชนวนความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา ผ่านประวัติศาสตร์ 5 ช่วงเวลา ตั้งแต่ยุคอาณานิคมสยาม- ฝรั่งเศส , ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 , ยุคก่อนปี 2505 , ยุคหลังคำตัดสินศาลโลก ปี 2505 และยุคปัจจุบัน
ดร.มรกต เจวจินดา ไมเยอร์ จากคณะสังคมศาสตร์ มศว.ประสานมิตร อธิบายวาทกรรม “เสียดินแดน” เกิดขึ้นในยุคจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม เป็นวาทกรรมที่ผูกพันกับระบบทหาร แต่หลังคำตัดสินของศาลโลก เมื่อปี 2505 ประเด็นปราสาทพระวิหารถูกซุกไว้ใต้พรม จนกระทั่งถูกปลุกขึ้นอีกครั้งหลังรัฐประหารกันยายน 2549 วาทกรรมเรื่อง “ เสียดินแดน” ถูกนำมาผลิตซ้ำ โดยนำเสนอความจริงชุดใหม่ ที่ไม่ได้อ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างครบถ้วน
ประเด็น ปราสาทพระวิหาร ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาฐานอำนาจ เพราะกลุ่มผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้ รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สานต่อนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ยุคที่สอง ต่อจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
รศ.ดร.สุรชาติ ประเมินแสนยานุภาพกองทัพไทย ว่าแม้ว่าจำนวนกำลังพล จะอยู่อันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจาก เวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่สงครามไม่ใช่ทางออกของปัญหา ทุกฝ่ายต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “รบแล้วชนะ แล้วจะได้อะไร?” และอย่ามองสงครามระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนสงครามอ่าวเปอร์เซีย
Produced by VoiceTV