สถาบันการบินพลเรือน ยอมรับประเทศไทย ยังขาดแคลนนักบิน หลังอุตสาหกรรมการบินเติบโตรวดเร็ว เตรียมเปิดวิทยาเขตที่ขอนแก่น เพิ่มกำลังการผลิตนักบินอีกเท่าตัว
สำนักงานรับรองมาตรฐานเเละประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เปิดเผยสถิติคุณภาพสถาบันการบิน ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน 26 เเห่ง ทุกแห่งได้รับการประเมินคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันอุดมศึกษา เปิดสอนด้านการบินและผู้เข้าเรียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2556 กว่า 5 พันคน เป็นมากกว่า 1 หมื่น 5 พันคนในปี 2558 เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบิน และการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางอากาศของอาเซียน
แต่ปัญหา คือผลิตนักบินได้ 200-300 คนเท่านั้น สวนทางธุรกิจการบิน ที่ต้องการนักบินใหม่ปีละ 400 - 500 คน จากปัจจุบันมี 2,500 - 3,000 คน
เฉพาะสถาบันการบินพลเรือน ผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินกว่า 1,800 คน ผลิตนักบินได้ 100- 120 คน แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการเพราะการสร้างนักบิน 1 คน ใช้เวลานาน โดยเฉพาะตำแหน่งกัปตัน ใช้เวลา 10 ปี
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้สถาบันการบินพลเรือน เร่งผลิตบุคลากร รองรับอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจะเปิดวิทยาเขตที่จังหวัดขอนแก่น อีก 1 แห่ง สามารถผลิตนักบินเพิ่มอีกเท่าตัว
สำหรับวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน ปัจจุบันมี 8,000-9,000 คน แต่ละปีผลิตได้ 300 - 400 คน จากความต้องการมากกว่า 400 คนต่อปี