การถือกำเนิดของหมู่บ้านเสื้อแดง ในหลายจังหวัดโดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน มีการขึ้นป้าย พร้อมติดธงสีแดงทั้งหมู่บ้าน รวมถึงการตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเสื้อแดง ซ้อนทับกับผู้นำตาม กฎหมายปกครองท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ฝ่ายรัฐมองว่าเป็นการท้าทายต่ออำนาจรัฐส่วนกลางเป็นอย่างยิ่ง
แกนนำเสื้อแดงจังหวัดปทุมธานี สร้างหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งที่ 3 ของจังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพลังประชาธิปไตยในภาคประชาชนและจุดยืนทางการเมือง
แกนนำหมู่บ้านเสื้อแดง มองว่า การจัดตั้งหมู่บ้านบนที่ดินส่วนบุคคลเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนสามารถทำได้ ส่วนงบประมาณในการบริหารท้องถิ่นนั้น ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาโดยตรง ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับเงินพัฒนาพื้นที่เช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่น และยืนยันว่าการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงไม่ใช่กลุ่มคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านจึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารหมู่บ้านเพื่อดูแลความเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถเข้ามาตรวจสอบได้
แม้ว่าหมู่บ้านเสื้อแดง จะมีความสัมพันธ์ กับกลุ่ม นปช. และพรรคเพื่อไทย เพราะมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยในแนวทางเดียวกัน แต่เมื่อพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล หมู่บ้านเสื้อแดง ก็จะทำหน้าที่ในฐานะประชาชนที่จะติดตาม ตรวจสอบรัฐบาลเพื่อไทยต่อไป
Produced by VoiceTV