ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มสภาที่ 3 ร่วมกับ 30 องค์กรประชาธิปไตย, คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) จัดเวทีสาธารณะ "บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย"
ช่วงหนึ่งการเสวนา รศ. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าวว่า รัฐสภามีบทบาททั้งแง่ที่เป็นตัวปัญหาหรือคลี่คลายปัญหา และจุดชี้ขาดคือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เป็นตัวแทนชนชั้นนำอภิสิทธิ์ชนที่มุ่งรักษาสถานะอำนาจและผลประโยชน์พวกพ้อง โดยเห็นว่าในสถานการณ์ปกติแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนความคิด ส.ว. แต่ปัจจุบันมีพลังกดดันจากสังคม อาจทำให้ ส.ว.หลายคนเปลี่ยนการตัดสินใจได้ โดยเฉพาะ ส.ว.ที่ไม่ได้ตกอยู่ในสภาพทาสโดยสมบูรณ์ อาจจะมีเจตจำนงเสรีที่เป็นแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่บ้าง
ขณะที่ คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีความแตกต่างกันในเรื่องเนื้อหาของทั้ง 7 ร่าง ที่รัฐสภากำลังจะพิจารณาในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ โดยตนเห็นด้วยกับร่างที่ 1, 2 และร่างที่ 4 ที่ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนร่างอื่นยังมีปัญหา โดยเฉพาะร่างที่ 6 ในประเด็นระบบการเลือกตั้ง ที่ฝ่ายการเมืองเองก็ยังไม่เห็นพ้องกัน และบางร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจต้องตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตนรับฟังทุกฝ่าย
ทั้งนี้การจะแก้รัฐธรรมนูญมีช่องทางที่จะไปศาลรัฐธรรมนูญ คือ ตามมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ใน 6 ประเด็นต้องนำไปประชามติ เมื่อผ่านรัฐสภาวาระ 3 แล้ว ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา 210 กรณีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ฝ่่ายบริหารนิติบัญญัติและองค์กรอิสระ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดนั้นตนไม่เห็นด้วย
อ่านเพิ่มเติม