4 พ.ค. 2019 ครบรอบ 100 ปีของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่สำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองจีนในปัจจุบันมักจะได้ยินคำว่าขบวนการสี่พฤษภาหรือ May 4th Movement ทั้งจากฝั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองและฝั่งผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนทั้งสองฝั่งต่างให้ความสำคัญกับขบวนการดังกล่าวเหมือนกันแต่เป็นไปในคนละมุมมองทางประวัติศาสตร์
ที่ผ่านมาพรรคคอมมิวินสต์จีนมักกล่าวว่าขบวนการ 4 พฤษภาคมเป็นหนึ่งในจุดกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์แนวคิดและจิตวิญาณของการเคลื่อนไหวในวันที่ 4 พ.ค. 1919 เป็นการแสดงถึงความรักชาติที่ยิ่งใหญ่ของนักศึกษาจีนที่รวมตัวกันขับไล่อำนาจของจักรวรรดินิยมและยังเป็นจุดเริ่มต้นของการหล่อหลอมจิตวิญญาณการก่อร่างประเทศจีนในศตวรรษที่ 20 อย่างแท้จริง
4 พฤษภาคม 1919 นักเรียนนักศึกษานับพันคนออกมาเดินขบวนประท้วงแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลในระบอบสาธารณรัฐทรยศต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เหตุเนื่องจากข้อตกลงของสนธิสัญญาแวร์ซายที่สร้างความอัปยศให้แก่จีนซึ่งระบุว่าชาติตะวันตกจะไม่คืนอาณานิคมของเยอรมันผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ให้กับจีนแต่ส่งต่ออาณานิคมดังกล่าวให้แก่จักรวรรดิญี่ปุ่นชนวนดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับนักศึกษาหลายพันคนในกรุงปักกิ่งที่มาชุมนุมเพื่อรับฟังข้อตกลงดังกล่าวในวันนั้นจึงก่อให้เกิดการจราจลขึ้นบริเวณจตุรัสเทียนอันเหมินและจบลงด้วยการบุกเข้าทำลายบ้านของรัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารของรัฐบาลจีนในขณะนั้นเป็นผลให้มีนักศึกษาถูกจับกุม 32 คน
ดร.รานา มิตเตอร์ นักประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดกล่าวกับวอยซ์ออนไลน์ว่า ขบวนการ 4 พฤษภาคมเป็นจุดเปลี่ยนที่มีความสำคัญกับสังคมจีนเป็นอย่างมากเนื่องจากมันเกิดขึ้นในช่วงที่สังคมจีนกำลังอ่อนแอนักศึกษาต่างพากันตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมในการทำงานระหว่างชายและหญิงลำดับและความสัมพันธ์ทางสังคมโดยมีแนวคิดที่สำคัญคือ ‘วิทยาศาสตร์’ และ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามว่าสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคตต่อไปของสังคมจีนนั้นคืออะไร?
รานากล่าวว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญญาชนจีนกำลังตั้งคำถามกับแนวคิดขงจื่อที่อยู่กับสังคมจีนมาอย่างยาวนานเพราะกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้เห็นพ้องว่าแม้ระบอบราชวงศ์จะถูกโค่นล้มและจีนได้เปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐแล้วแต่ยังมีบางสิ่งที่ทำให้จีนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ได้นั้นก็คือวัฒนธรรมในแบบจารีตดั้งเดิมที่ยึดถือตามปรัชญาขงจื่อยังคงฝังรากอยู่ในทุกช่วงชั้นของสังคมจีนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาประเทศ
ขบวนการ4 พฤษภาคมจุดกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์
เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาประธานาธิบดีสีจิ้นผิงผู้นำจีนกล่าวเน้นย้ำถึงจิตวิญาณและแนวคิดในเรื่องความรักชาติและความกล้าหาญของขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเพื่อปกป้องผลผระโยชน์ของชาติและยังเน้นย้ำให้เยาวชนจีนในปัจจุบันยึดถือเอาแนวคิดดังกล่าวเป็นหมุดหมายในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติจีน
รานากล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์กำเนิดขึ้นให้หลัง2 ปีของเหตุการณ์สี่พฤษภาคม 1919 และพรรคคอมมิวนิสต์มักกล่าวเสมอว่าแนวคิดของกลุ่มนักศึกษาในเหตุการณ์วันนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดพรรคคอมมิวนิสต์จีนแต่อย่างไรก็ตามพรรคคอมมิวนิสต์ไม่กล่าวถึงเหตุการณ์และการกระทำของกลุ่มนักศึกษาในวันนั้นมากนัก เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงกับการตั้งคำถามในเชิงการเมืองถึงหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพตามแนวคิดตะวันตกซึ่งเป็นสิ่งรัฐบาลจีนต้องการหลีกเลี่ยง
รานายังกล่าวว่า สำหรับคนรุ่นใหม่ของจีนแล้วการรับรู้แนวคิดของขบวนการสี่พฤษภานั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจำกัดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากแต่ความตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่นั้นอาจเป็นสิ่งเดียวที่ยังเชื่อมโยงได้กับแนวคิดของขบวนการสี่พฤษภาเมื่อ 100 ปีก่อน
'ขบวนการ 4 พฤษภาคม' แม่แบบของการเรียกร้องประชาธิปไตยในจีน
'ขบวนการ 4 พฤษภาคม' ได้กลายเป็นตัวอย่างของการประท้วงต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของเหตุการณ์ประท้วงใหญ่2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่จนถึงปัจจุบัน
ในปี 1989 ครบรอบ70 ปีของ 'ขบวนการ 4 พฤษภาคม' กลุ่มนักศึกษาและแรงงานในจีนต่างพากันมาชุมนุมบริเวณจตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อไว้อาลัยให้แก่การจากไปของนายหูเย่าปังผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ผู้ที่เป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ในจีนจนกระทั่งนำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของกลุ่มผู้ชุมนุมเนื่องจากสภาพปัจจัยต่างๆ ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองนั้นไม่มีทีท่าที่จะสามารถนำพาชาติจีนให้เจริญรุ่งเรืองได้ แนวเรื่องการกอบกู้ชาติรวมไปถึงแนวคิด‘วิทยาศาสตร์’ และ’ประชาธิปไตย’ ได้ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งเพื่อต่อต้านความล้มเหลวในการบริหารงาของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์
เหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ตัดสินใจสลายการชุมนุมจนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกในการกระทำของรัฐบาลจีนที่มีต่อกลุ่มนักศึกษาและประชาชนชาวจีนที่ออกมาเรียกร้องในวันที่ 4 มิถุนายน1989 ด้วยการใช้อาวุธสงครามและยุทโธปกรณ์ต่างๆในการสลายการชุมนุมของประชาชน
ข้อมูลที่เปิดเผยจากเอกสารของสถานทูตสหราชอาณาจักรระบุว่าเหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปีดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตสูงกว่า 10,000 ราย ขณะที่รัฐบาลจีนรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 คนเท่านั้นเหตุการณ์ดังกล่าว
ขณะที่เมื่อปี 2014 การเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งแต่ครั้งไม่ใช่การเรียกร้องในจีนแผ่นดินใหญ่อย่างในกรุงปักกิ่งแต่เกิดขึ้นในดินแดนที่มีอำนาจปกครองตนเองของจีนอย่างฮ่องกง
กลุ่มขบวนการร่มเหลืองในฮ่องกงเมื่อปี 2014 นั้นถูกมองว่าเป็นมรดกของ 'ขบวนการ 4 พฤษภาคม' ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องประชาธิปไตยต่อรัฐบาลจีนและจบลงด้วยการสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำของขบวนการเช่นกันแต่ทั้งนี้ก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียงถึงการนิยามเหตุการณ์ร่วมเหลืองนั้นสามารถยกระดับให้เทียบเท่ากับขบวนการสี่พฤษภาได้จริงหรือ
รานากล่าวว่า ขบวนการร่มเหลืองเป็นการประท้วงทางการเมืองที่มีเป้าหมายมุ่งเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในฮ่องกงเท่านั้นแต่ขบวนการสี่พฤษภานั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่ปัญญาชนของจีนในวงกว้างและส่งผลต่อสังคมจีนสมัยใหม่ในวงกว้างแต่ขบวนการร่วมเหลืองนั้นเป็นการเคลื่อนไหวในวงที่จำกัดมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนดังนั้นการเคลื่อนไหวของทั้งสองกลุ่มนี้จึงมีความแตกต่างกัน
รานากล่าวปิดท้ายว่าสถานะทางประวัติศาสตร์ของ 'ขบวนการ 4 พฤษภาคม' นั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อประวัติศาสตร์สมัยใหม่เนื่องจากมันไม่เป็นเพียงแต่การนำไปสู่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองเท่านั้นแต่ยังเป็นการเปลี่ยนทางระบความคิดทางสังคมและวัฒนธรรมของจีนทั้งหมดอีกด้วย