คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนา 'ความเหลื่อมล้ำกับความยุติธรรม' โดยวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ความยุติธรรมเป็นเหมือนลมหายใจของมนุษย์ ขาดความยุติธรรมแม้จะไม่ตายเหมือนกับขาดลมหายใจ แต่ก็เหมือนตายทั้งเป็น และตราบใดความยุติธรรมซื้อได้ จะไม่สามารถจัดการการทุจริตได้เลย
ส่วน คดี 'บอส อยู่วิทยา' เป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่ยุติธรรมยังคงอยู่ อย่างน้อยๆ ที่เห็นชัดเจนคือ "ความล่าช้าในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม"
วิชา ยืนยันว่า แม้ระบบดีแค่ไหน แต่ถ้าคนอยู่ในระบบเป็นคนที่ไม่ดี ก็ไม่เกิดความยุติธรรม ดังนั้น คนที่อยู่ในระบบคือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กินภาษีประชาชน ต้องมีจริยธรรมที่สูงกว่าคนทั่วไป โดยส่วนตัวให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ พร้อมยกคำกล่าวของ 'ลี กวนยู' ผู้นำประเทศสิงคโปร์ ที่ว่า "ไม่เชื่อในความดีของมนุษย์ แต่เชื่อในกระบวนการตรวจสอบแบบเข้มงวดทุกจุด" ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปตรวจสอบต้องยึดหลักจริยธรรมสูงสุด ดังนั้นทั้งเรื่องยุติธรรมและเหลื่อมล้ำของไทย ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการพัฒนามนุษย์ โดยเฉพาะผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมจนถึงแก่น โดยต้องเลือกคนที่ดีที่สุด ไม่ใช่เอา "คนเหลือเลือก" มาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม
ส่วนพนักงานสอบสวน เห็นว่าควรแยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้มีความอิสระในการสั่งคดี ในลักษณะที่คล้ายกับอัยการและศาล
พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และยิ่งซ้ำเติมสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำมากอยู่แล้ว และมองว่าปฏิรูปตำรวจไม่ได้สักที เพราะโครงสร้างตำรวจอยู่ใต้อำนาจฝ่ายบริหาร โดยเสนอว่าต้องแก้กฎหมายตำรวจ โดยเฉพาะในแง่การสอบสวนไม่ให้อยู่ใต้อำนาจฝ่ายบริหาร ส่วนการตรวจสอบองค์กรใด ต้องให้คนภายนอกร่วมตรวจสอบด้วย
วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การที่ตำรวจไม่เห็นแย้งอัยการกรณีไม่ฟ้อง 'บอส อยู่วิทยา' เป็นไปไม่ได้ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะไม่รับรู้ การบอกว่าลูกน้องเป็นคนลงนามไม่เห็นแย้งนั้นฟังไม่ขึ้น และการที่รองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น ทางสำนักงานอัยการสูงสุดก็ต้องรับรู้ด้วย
วัชระ ย้ำว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นตำบลกระสุนตก ที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นไม่ให้ความเชื่อถือ ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีที่สั่งไม่ฟ้องคดี 'บอส อยู่วิทยา' แต่มีตั้งแต่ตำรวจตั้งด่านลอยเรียกเก็บส่วย หรือไถเงินเเลกกับการไม่ดำเนินคดี และยังกล่าวด้วยว่า กรณีที่ตำรวจสั่งไม่ฟ้องคดีนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาจะถามว่า "สั่งไม่ฟ้องซองอยู่ไหน" เป็นการตั้งศาลเตี้ยพิพากษาเสร็จสรรพ แต่รับเอาเงินสด หากโอนผ่านบัญชีธนาคารเมื่อถูกจับได้ก็บอกว่าเป็นเงิน 'ใช้หนี้' ก็เคยมีมาแล้ว ซึ่งหลายคดีไปไม่ถึงที่สุดก็เพราะเงินและอำนาจ พร้อมยืนยันว่า ตำรวจขึ้นกับการเมือง 100% ไม่ว่าในรัฐบาลประชาธิปไตยหรือรัฐบาลรัฐประหาร ก็ล้วนสั่งตำรวจและอัยการได้ และเห็นพ้องว่า ควรแยกอำนาจการสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
วัชระ กล่าวด้วยว่า ถ้ามีเงินไม่ว่าเป็นคนจากประเทศไหน ก็สามารถซื้อความยุติธรรมในประเทศไทยได้ จึงเห็นว่า ถ้ายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งหลายทั้งปวงนี้
อุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ความผิดอาญามีการกระทำที่หลากหลาย เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างกรณี 'ความยากจนทำให้คนก่อเหตุลักทรัพย์' พนักงานสอบสวนใช้อำนาจดุลพินิจ โดยไม่ต้องให้เรื่องขึ้นสู่ศาล ซึ่งต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ มีเหตุผลที่สังคมรับได้ เพราะการดำเนินการไม่ได้มุ่งรักษากฎหมายเท่านั้น แต่มุ่งทำให้สังคมอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขด้วย
ส่วนกรณี 'บอส อยู่วิทยา' สะท้อนถึงความไม่ใส่ใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะเรื่องเกิดตั้งแต่ปี 2555 ยาวมาจนหลายคดีขาดอายุความ ทำให้คดีที่เป็นเรื่องปกติให้กลายเป็นไม่ปกติ และปัจจุบันยังไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก ซึ่งสะท้อนอีกด้วยว่า "กระบวนการยุติธรรมของไทยขาดความรับผิดชอบ"
อุดม กล่าวด้วยว่า คดีอาญาใกล้ชิดกับการเมือง ใกล้ชิดกับการพยายามแสวงหาตัวช่วยหรือผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นความตายของคนที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของการที่จะต้องไปอ้อนวอนขอความเมตตา โดยเห็นว่า ถ้าต้องไปอ้อนวอนขอให้พนักงานสอบสวนหรืออัยการตลอดจนศาลว่า "ได้โปรดทำด้วยความยุติธรรมเถิด ขอความเมตตาเถิด" ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลายเป็นเรื่องของความรู้สึก เรื่องของอำนาจไปหมด เป็นเรื่องว่า "ฉันจะให้ก็ได้ ฉันไม่ให้ก็ได้" โดยเห็นว่า ถ้าสังคมยังคงเป็นสภาพแบบนี้อยู่ว่า "ฉันจะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด" อย่างนี้ จะกลายเป็นปัญหาที่สังคมไม่มีหลักประกันความยุติธรรมเลย
ณัฏฐวุฒิ อุทัยเสน อดีตกรรมการจรรยาบรรณ สภาวิศวกร ระบุว่า คดี 'บอส อยู่วิทยา' ใช้สภาวิศวกรมาเป็นตัวช่วยในการคำนวณความเร็วรถผู้ต้องหาหลังจากเกิดเหตุหลายปี พร้อมยืนยันว่า ทุกคนที่ฟังเสวนานี้ สามารถคำนวณได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร โดยคำนวนความเร็วจาก 'ระยะทางหารด้วยเวลา' เป็นสูตรคณิตศาสตร์พื้นฐาน
ณัฏฐวุฒิ เปิดเผยว่า มีผู้ทำหนังสือถึงสภาวิศวกรว่า ผู้เป็นพยานที่อ้างตัวว่าเป็นวิศวกรคำนวณความเร็วรถยนต์ผู้ต้องหาให้ตำรวจนั้น ใบอนุญาตวิศวกรหมดอายุตั้งแต่ปี 2559 และพบว่าเป็นจริง ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของสภาวิศวกร โดยตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.วิศวกรนั้น การแอบอ้างดังกล่าว มีโทษจำคุกถึง 3 ปี ซึ่งอาจมีผลต่อเจ้าพนักงานและอัยการด้วย ที่เอามาเป็นตัวช่วยในเรื่องนี้ อีกทั้งยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงตัวช่วยในลักษณะนั้นได้