วันที่ 14 มี.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จำนวนกว่า 40 คน ที่ยังคงอยู่ในห้องกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยาวนานกว่า 10 ปีว่า ทางการไทยตระหนักดีว่า เรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ค้างคาใจของคนในสังคม และเป็นเรื่องที่ทางการไทยให้ความสำคัญด้วย
กาญจนา กล่าวต่อว่า หากจำเรื่องตั้งแต่ต้นได้นั้น ตะหบว่า มีกลุ่มเด็ก และผู้หญิงชาวอุยกูร์ที่ส่งตัวไปยังประเทศตุรกี จำนวนประมาณ 179 คน และมีอีกส่วนหนึ่งที่ส่งตัวกลับไปยังประเทศจีน เนื่องจากทางการจีน ระบุมาว่า บุคคลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม และยังมีกลุ่มคนที่เหลืออยู่ในไทย ดังนั้นจะเห็นว่า สัดส่วนโดยเฉพาะผู้หญิง และเด็กที่ส่งตัวไปยังตุรกี รวมถึงกลุ่มที่ส่งตัวไปจีนนั้นเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย
ขณะที่ พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (ผบก.ตม.2) ในฐานะโฆษก ตม. ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าว ‘วอยซ์’ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ถึงประเด็นดังกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ตนยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว“
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังกล่าวอีกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในหลายประเด็น ซึ่งจุดหมายสำคัญที่กลุ่มผู้ลี้ภัยยชาวอุยกูร์ยังคงอยู่ในไทยตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา อย่างหนึ่งคือ เรื่องความปลอดภัยของตัวผู้ลี้ภัยเอง แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ยังคงมีคนให้ความสนใจแก่ตัวผู้ลี้ภัย และประเด็นดังกล่าว
กาญจนา กล่าวถึงนโยบายการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance) แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบในประเทศเมียนมา บริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ของรัฐบาลไทย และกระทรวงการต่างประเทศ
โดย กาญจนา เปิดเผยว่า รัฐบาล และกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศ และคนไทยเป็นหลักสำคัญ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และค่านิยมสากล ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้มีข้อริเริ่มช่วยเหลือดังกล่าวแก่ประชาชนทุกฝ่ายตามแนวชายแดน โดยไม่เลือก หรือสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ
กาญจนา เน้นย้ำว่า รัฐบาลต้องการเห็นสถานการณ์ในเมียนมาที่สงบ และมีเสถียรภาพ ไม่ให้สถานการณ์มันยืดเยื้อต่อไป และการดำเนินการเช่นนี้ ไทยไม่ได้ดำเนินการโดยเอกเทศ แต่ยังมีความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิกอาเซียนในการผลักดันให้คืบหน้าตามฉันทามติ 5 ข้อ โดยเฉพาะเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
กาญจนา กล่าวต่อว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาก็ได้มีการดำเนินการและหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างใกล้ชิด และในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการตอบรับแนวคิดดังกล่าว และจะส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านสภากาชาดของทั้งไทย และเมียนมา
รวมถึงศูนย์ประสานงานอาเซียนเรื่องการช่วยเหลือมนุษยธรรมและภัยพิบัติ ก็จะร่วมด้วย ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มมีการช่วยเหลือครั้งแรกภายในเดือนนี้ และหากประสบความสำเร็จจะขยายผลไปพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป
รวมถึงในปัจจุบันยังมีพี่น้องชาวเมียนมาที่พลัดถิ่นเข้ามาในไทย และยังตกค้างอยู่ตามสถานที่พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาการที่ดีในการพยายามส่งกลับไปโดยสมัครใจ แต่เมื่อสถานการณ์ในเมียนมานั้นไม่ดี จึงเกิดสถานการณ์ที่มีคนหนีมาเพิ่มเติม
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต่อไปว่า ในหลักการไทยสนับสนุนให้เกิดการหารือเพื่อสันติภาพระยะยาว และพร้อมสนับสนุนกระบวนการหารือทุกรูปแบบ พร้อมเน้นย้ำว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้หารือทุกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้มีการหารือกับทางการเมียนมาอย่างเดียวเท่านั้น
กาญจนา เน้นย้ำว่า บางข้อมูลยังอยู่ในระหว่างการทำงานจึงไม่สามารถแจ้งรายละเอียดได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่นักวิชาการ หรือผู้ที่ดำเนินการด้านการต่างประเทศ เราก็ยินดีที่จะรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ
เมื่อถามว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศจะมีตัวชี้วัดอย่างไรว่าการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้นจะไม่ตกอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดย กาญจนา กล่าวว่า การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้นเป็นเหมือนตัวชี้วัดร่วมกันว่า ความช่วยเหลือที่ส่งไปแล้วนั้นจะถึงฝ่ายต่างๆไม่ใช่แค่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ยังคงมีมิตรประเทศอื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งยอมรับว่า มันเป็นไปอย่างต่อเนื่องต่อเนื่อง
กาญจนา กล่าวเสริมว่า ทางการไทยได้มีการพูดคุยกับคนในพื้นที่ ในห้วงเวลาของการแจกจ่ายความช่วยเหลือไป และกาชาดทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมฯ จะเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ และมีพี่น้องในพื้นที่จะดูแลเพื่อให้แน่ใจว่าความช่วยเหลือนั้นจะถึงทุกกลุ่มตามเป้าประสงค์
กาญจนา กล่าวถึงการลงพื้นที่ของ จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ จ.เชียงราย และต่อเนื่องมาจนถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.พะเยา ในระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค. นี้
โดยการลงพื้นที่ จ.เชียงราย และจ.พะเยา นั้น จะเป็นการส่งเสริมเรื่องของเศรษฐกิจระหว่างชายแดน รวมถึงการปราบปรามขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติคอลเซ็นเตอร์ และจะมีการให้บริการหนังสือเดินทางท่องเที่ยวที่ศาลาประชาคม จ.พะเยา ในระหว่างวันที่ 15-19 มี.ค. นี้