นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบายในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตํารวจเเห่งชาติ ตัวแทนผู้บัญชาการเหล่าทัพ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
นายกฯแพทองธาร กล่าวต่อที่ประชุมว่า รู้สึกดีใจที่ได้ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพราะปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศ และเป็นพื้นฐานที่จะไปพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปได้ ซึ่งเรื่องยาเสพติดจำเป็นที่ต้องดูแลอย่างดี หลังจากการลงพื้นที่หลายจังหวัดได้รับเสียงสะท้อนในเรื่องปัญหายาเสพติดมาโดยตลอด ทั้งจาก ส.ส. ประชาชน ถือว่าเป็นปัญหาที่หนักหน่วง ทำลายเรื่องของสุขภาพจิตและสร้างปัญหาครอบครัว ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที โดยจะขยายผลการดำเนินการของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้การป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระเเห่งชาติ
นายกฯแพทองธาร ยังได้ติดตามผลการดำเนินตั้งแต่มิถุนายน - 31 สิงหาคม 2567 ในพื้นที่ 25 จังหวัด ประกอบด้วย
- กรุงเทพมหานคร
- ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ภาคกลาง ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี และกาญจนบุรี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ อุดรธานี นครพนม มหาสารคาม ร้อยเอ็ด หนองคาย มุกดาหาร สกลนคร หนองบัวลำภู เลย บึงกาฬ และ ขอนแก่น
- ภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล
ซึ่งจากการวัดผลพบว่าทุกคนร่วมมืออย่างทุ่มเท จริงจัง ต้องขอบคุณทุกภาคส่วน ภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานปกครอง รวมทั้ง ป.ป.ส. ที่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ อีกทั้งจากผลการสำรวจความพอใจจากประชาชนใน 25 จังหวัดดังกล่าวยังพบว่ามีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งได้ทราบว่าสามารถจับผู้ผลิตรายใหญ่ได้หลายราย ทำให้รายเล็กโดนจับด้วย ส่งผลให้ประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้นและพึงพอใจมากขึ้น
นายกรัฐมนตรีย้ำอยากจะให้จัดเฟสรีบขยายจำนวนจังหวัดให้เร็วขึ้นจะได้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะยังมีอีกหลายจังหวัดขอความช่วยเหลือเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องดำเนินการต่ออย่างเข้มแข็ง และดูตัวอย่างพื้นที่ที่ทำไปแล้ว เช่น ธวัชบุรีโมเดล จ.ร้อยเอ็ด และท่าวังผาโมเดล จ.น่าน เมื่อดำเนินการแล้วถือเป็นสิ่งที่ทำแล้วได้ผลมาก รวมถึงประเด็นปัญหาชายเเดน ที่จะต้องป้องกันอย่างเข้มงวด เพื่อทำให้ยาเสพติดจากประเทศอื่นไม่เข้ามาในประเทศ อีกทั้งยังมีการมอบยุทโธปกรณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ เช่น กล้องไนท์วิชั่น รถ 4WD เพื่อให้การจับกุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเกิดความปลอดภัยมากขึ้น โดยจะดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวต่อไป และจะนำบทเรียนที่ประสบความสำเร็จใน 25 จังหวัดที่ผ่านมามาดำเนินการต่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “อะไรที่ทำแล้ว เกิดประโยชน์ก็ทำต่อไป” หรือทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ สั้นลงเพื่อให้มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ มุ่งเน้นการปราบปราม และบำบัดเยียวยา ตลอดจนทำให้ผู้เสพสามารถกลับคืนเข้าสู่สังคมได้ และพร้อมประกอบอาชีพหลังจากบำบัดยาเสพติดจนหายแล้ว
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำให้มีความชัดเจนในส่วนของการ Re-X-ray คนนอกระบบประมาณ 200,000 คน ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ และการศึกษาในเรือนจำ ที่พบว่าคนที่มีเปอเซ็นต์ติดยาเสพติดคือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา จึงอยากให้มีการทำแผนตั้งโมเดลขึ้นมาพิจารณาช่วยกัน เพื่อขยายผลเรื่องนี้ซึ่งสามารถต่อยอดนโยบายการศึกษา Zero Dropout ได้ พร้อมทั้งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้สังคมและประชาชนในกระบวนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งการสื่อสารไม่ใช่แค่การแสดงผลงาน แต่เป็นการสร้างความระมัดระวังให้สังคมเห็นว่ารัฐบาลทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงการป้องกันปราบปรามยาเสพติดไปแล้วจริง ๆ เท่าไหร่
“อยากได้ภาพรวมสรุปทั้งกระบวนการ จับแล้วกี่ราย ยาเสพติดที่จับแล้วไปไหน เพื่อตอบสังคมให้ได้ว่ามีการทำลายยาเสพติดอย่างไร มีการบันทึกอะไรบ้างที่ตอบข้อสงสัยของประชาชน อีกทั้งในเรื่องของการยึดทรัพย์ ขอให้ทำเป็นระเบียบให้ชัดเจน ทำอย่างจริงจัง แต่จะยึดเเค่ไหน ตัวกำหนดเป็นอย่างไรจะมีการคุยกันอีกที” นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ
สำหรับที่ประชุมได้มีการหารือและพิจารณาประเด็นสำคัญ ดังนี้
1) เห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระดับจังหวัดปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดย 25 จังหวัดเร่งด่วน ขยายการปฏิบัติ 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร 8 เป้าหมาย ดำเนินการ 5 จุดเน้นการปฏิบัติ 15 แนวทาง 4 ตัวชี้วัด ภาพรวม Re-xray
2) เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นคำสั่งเดิมที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการ
3) เห็นชอบการกำหนดพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนพื้นที่เพิ่มเติม โดยขออนุมัติประกาศพื้นที่ปฏิบัติการเพิ่มเติม ในปี 2568 พื้นที่ในจังหวัดตาก 3 อำเภอชายแดน ได้แก่ อ.อุ้มผาง อ.แม่ระมาด และอ.ท่าสองยาง เพิ่มเติมจากพื้นที่เดิม 2 อำเภอ คือ อ.พบพระ และ อ.แม่สอด รวมทั้งจัดตั้ง “หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) และชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24)
ทั้งนี้ให้ฝ่ายเลขานุการ (สำนักงาน ป.ป.ส) จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรื่องกำหนดพื้นที่ความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เสนอประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดลงนามต่อไป