ไม่พบผลการค้นหา
เปิดเส้นทางชีวิตของผู้ก่อตั้งค่ายไหทองคำ เรคคอร์ด และนักปั้นนักร้องอีสานอินดี้ชื่อดัง เริ่มตามฝันอยากเป็นนักร้องดัง ด้วยการเป็นเด็กเสิร์ฟจนประสบความสำเร็จกลายเป็นเจ้าของค่ายเพลง พร้อมเผยเคล็ดลับใช้โลกออนไลน์เป็นฐานสร้างศิลปินอินดี้ให้กลายเป็นขวัญใจมหาชน

‘ประจักษ์ชัย ไหทองคำ’ หรือ นายประจักษ์ เนาวรัตน์ ผู้ก่อตั้งค่ายไหทองคำ เรคคอร์ด ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว ‘วอยซ์ออนไลน์’ ถึงเส้นทางชีวิตก่อนจะมาทำค่ายเพลงอินดี้ในปี 2559 ประจักษ์ชัย เล่าว่า ตนชอบเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เวลาว่างก็ประดิษฐ์กลองชุดเล่น เอาแกลอนน้ำมันมาทำเป็นกระเดือง เอากระป๋องปลากระป๋องมาทำเป็นคาเบลและเอาถาดมาทำเป็นฉาบ จนเพื่อนบ้านจำได้

พอเข้ามากรุงเทพฯ สอบเอ็นทรานส์ไม่ติด เลยเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตอนนั้นคณะที่เป็นที่นิยมมีอยู่ 2 คณะ คือ นิติศาสตร์ และบริหารธุรกิจ แต่เนื่องจากตัวเองไม่เก่งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ชอบแต่งกลอน เก่งภาษาไทยกับสังคม ก็เลยเลือกคณะนิติศาสตร์ เพราะได้ท่อง ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ก็เล่นพิณ กีต้าร์โปร่ง แล้วก็แต่งเพลง เรียนจบมาก็ไม่ได้ไปเป็นทนาย หรือเป็นในสิ่งที่พ่อแม่คาดหวัง เช่น ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่ญาติพี่น้องก็เป็นข้าราชการกันหมด แต่ตนกลับมาแต่งเพลงขายให้กับพรรคการเมืองและค่ายเพลงโน้นนี้ เพลงละ 1,000 – 3,000 บาท ประจักษ์ชัย เล่าว่า บางทีแม่ก็ไม่สบายใจที่ทำอาชีพนี้ เพราะตนก็ขัดใจแม่ แต่บอกกับแม่ในวันรับปริญญาว่า “ผมได้ทำให้แม่มาถ่ายรูปที่สวนอัมพรได้แล้วนะ ก็มาได้แค่นี้ ไม่ได้เป็นหมอก็เป็นหมอลำ”

ตอนแรกเรียนจบมาทำงานเป็นฝ่ายกฎหมายในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็ออกมาทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟและร้องเพลงในร้านอาหาร แม้ว่าจะรายได้ไม่มั่นคง แต่ก็เป็นสิ่งที่ตนรักและได้สั่งสมประสบการณ์ มีโอกาสพบปะกับศิลปิน นักแต่งเพลง และครูเพลงต่างๆ แล้วเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาทำการตลาดค่าย สอนเด็กๆ ในค่ายเรื่องการวางตัว เป็นต้น

จากนั้นก็กลับไปเล่นการเมืองท้องถิ่น เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร (สจ.) อยู่หนึ่งสมัย แล้วพอสมัยต่อมาสอบตก ก็เลยกลับมาทำงานดนตรีต่อ ขณะเดียวกันก็มีคนชักชวนให้ไปเล่น Copy Show เพราะหน้าคล้ายเท่ง เถิดเทิง โดยใช้ชื่อว่า ‘เท่ง เปิดเปิง’ ระหว่างนั้นก็แต่งเพลงปั้นนักร้องไปด้วย โดยเริ่มจาก ‘ลำยอง หนองหินห่าว’ และ ‘เมรี หนองฮีใหญ่’ ก่อนที่จะมาเจอกับ ‘ลำไย ไหทองคำ’ ตอนที่ตนรับงาน Copy Show ในงานเลี้ยง แล้วลำไยมาร้องเพลง ก็เลยได้ขอเบอร์ติดต่อและชวนมาร่วมงานกัน  


ประจักษ์ชัย ไหทองคำ

เคยฝันอยากเป็นนักร้องดัง ก่อนผันตัวเป็นนักปั้น

ประจักษ์ชัย เผยว่า แม่ยังไม่ยอมรับในเส้นทางที่ตนเลือก จนกระทั่งค่ายไหทองคำเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จ ความจริงไม่มีใครคิดว่าคนอีสานจะได้มาเป็นเจ้าของค่ายเพลงระดับประเทศ แต่ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียมันเปิด สมัยก่อนความฝันของตนคืออยากเป็นนักร้อง มีศิลปินในดวงใจคือมนต์แคน แก่นคูน, ไมค์ ภิรมย์พร, และครูสลา คุณวุฒิ เขาเล่าว่าเมื่อก่อนนั่งรถไฟมากรุงเทพฯ แบกกระสอบข้าวเข้ามา แต่แต่งตัวแบบมนต์แคน ไมค์ และมีผ้าพันคอแบบครูสลา ช่วงปี 2543 ลงทุนทำเพลงเอง อัดเสียง ถ่ายมิวสิควิดีโอ เอาเพลงไปฝากเปิดในคลื่นวิทยุต่างๆ รวมๆ ก็หมดเงินไปหลายหมื่น แต่ไม่ดัง เพราะตอนนั้นยังไม่มียูทูป และโซเชียลมีเดีย ที่เพิ่งจะมาเบ่งบานตอนปี 2554 ซึ่งตรงข้ามกับอดีต ตอนนี้คนสามารถโด่งดังได้ในโลกออนไลน์โดยที่แทบไม่ต้องใช้ต้นทุน ขณะเดียวกันการทำ Content ในยูทูบทุกวันนี้ สำหรับตนเองก็ไม่ได้แข่งกันแค่วงการเพลงเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งกับคนที่ทำคลิปในรูปแบบอื่นๆ เช่น จับปลา กินอาหาร ฯลฯ อีกทั้งยังต้องเลือกช่วงเวลาที่ไม่มีเหตุการณ์ที่เป็นกระแสสังคมมาแข่งด้วย

“ผมแต่งเพลงมาให้หลายคนมาเป็น 10 ปี แต่งตั้งแต่เรียนรามฯ แต่ว่าก็ยังไม่พีก เราไม่ได้อยู่ค่ายใหญ่ๆ แต่ก่อนไม่มีซิงเกิ้ลที่ทำทีละเพลง ต้องทำทีละ 10 เพลง ต่อให้เราได้เข้าค่าย อยู่ในเพลงของศิลปินดัง แต่เราก็อยู่เพลงที่ 10 ที่เขาไม่ได้โฟกัสว่าอยู่ในเพลงเชียร์ เพราะเขาจะเชียร์อย่างมากแค่สองเพลง คือ เพลงเร็วหนึ่งเพลง และเพลงช้าหนึ่งเพลง ถ้าไม่ดังภายใน 3 เดือน 6 เดือน ก็ต้องทำอัลบั้มมาใหม่ ทุกวันนี้ทำแค่ซิงเกิ้ลเดียว ทำไปสิบเพลงไม่ดัง ก็ยังถือว่าแค่หนึ่งอัลบั้มในเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ทำไปเรื่อยๆ ไง ทุกวันนี้นักร้องก็เลยขยันทำเพลงออกมา วันนึงไม่รู้ว่ากี่หมื่นคนที่ลงโซเชียล”

ตอนนั้นคิดว่าการตั้งค่ายเพลงเป็นเรื่องไกลตัวมาก เพราะต้องใช้เงิน อีกทั้งเราก็เป็นเด็กที่มาจากต่างจังหวัด เป็นเรื่องไกลตัวมาก เต็มที่ก็เป็นนักร้อง นักดนตรี หรือคนแต่งเพลง ยอมรับว่าเป็นเรื่องเกินความฝัน และไม่ได้คาดหวังขนาดนี้ ตัวเองร้องมาสี่-ห้าเพลง เกือบจะดังมาหลายครั้ง และยืนยันว่าทุกวันนี้ก็ยังร้องเพลงได้ตลอด แต่ด้วยความที่ภาพจำของคนทั่วไปจะเห็นว่าตนเป็นนายห้าง เป็นนักปั้น เป็นอาจารย์ ภาพที่คนอินด้วยมันคือภาพนี้ แต่ถ้าตั้งแต่วันนั้นที่ตัวเองฝันอยากจะเป็นนักร้องดังแล้วพยายามมาเรื่อยๆ และไม่ผันตัวเองมาทำค่ายเพลง ทำเพลงดังสักหนึ่งเพลง แล้วรอให้โซเชียลเปิดทาง อย่างนี้อาจจะดังได้ แต่อนาคตก็ไม่แน่นอน เลยตัดตอนมาเป็นคนปั้นลำไยก่อน มันก็เลยกลับไปป็นนักร้องเหมือนน้องๆ ไม่ได้แล้ว


ลำไย ไหทองคำ


อินดี้ดังง่าย แต่ยืนระยะยาก

ประจักษ์ชัย กล่าวถึงเส้นทางการเป็นนักร้อง ว่าเริ่มต้นจากการหาตัวตนของตัวเองให้เจอว่ามีความสามารถด้านไหน การจะเป็นนักร้อง เริ่มจากคนที่ร้องได้ ร้องดี แล้วก็ต้องร้องเด่น คือร้องให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟัง จากนั้นจึงเลือกว่าจะลงทุนทำเพลงเอง และเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่ต้องมั่นใจว่ามีความสามารถครบรอบด้าน ทั้งการร้องเพลง เล่นดนตรี รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอผลงาน และที่สำคัญคือมีทุนเพียงพอ หรืออีกทางคือหาความสามารถยังไม่ครบรอบด้านสร้างตัวเองให้เป็นที่โด่งดังแล้วเมื่อมีแมวมองก็ควรจะสังกัดค่ายเพื่อต่อยอดพัฒนาทักษะด้านที่ยังขาดไป นักร้องหลายคนทำเองจนโด่งดังเป็นที่รู้จัก แต่ก็ยังขาดด้านการประสานงานกับเจ้าภาพ เช่น เวลาเจ้าภาพโทรมาจะจ้างงานแต่คิวไม่ว่าง ก็ควรจะมีวิธีการตอบที่ไม่หักหาญน้ำใจ หรือพูดไม่เพราะ ขณะเดียวกันผู้จัดการของนักร้องก็ต้องรู้จักการซื้อใจ ไม่ใช่ว่าเวลาดังแล้วจะพูดจาอย่างไรก็ได้ไม่เห็นหัวใคร เพราะในช่วงที่ความนิยมเริ่มลดลง ก็จะไม่มีใครโอบอุ้ม หรือเวลาที่แฟนคลับจะมาขอถ่ายรูป แต่ศิลปินไม่มีเวลาก็ต้องรู้จักวิธีพูด ไม่ใช่ไปไล่คน ขณะเดียวกันศิลปินเองก็ต้องปรับตัวให้เป็นที่รักของแฟนๆ เพราะทุกคนก็มาจากชีวิตบ้านๆ เหมือนกัน 

“อินดี้เกิดมาเยอะ แต่ก็ตายไปเยอะ อินดี้เก่งๆ มีเยอะ แต่ก็ตายไวกว่าเวลาอันควร เพราะคิดว่าตัวเองแม่นแล้ว จะบินเดี่ยวแล้ว เพราะว่าเส้นทางมันมีขวากหนามอีกเยอะ”   

ประจักษ์ชัย เปิดเผยถึงการปั้นนักร้องว่า การหาเพลงที่ดีง่ายกว่าหาคนเก่งมาร้องเพลง เพราะเพลงทุกเพลง ครูเพลงตั้งใจแต่งมาเป็นอย่างดี และต่อให้เราได้เพลงที่ดี มีท่อนฮุก มีซับฮุก และมีคำโดนทุกคำ แต่นักร้องไม่เหมาะ เพลงก็ไม่ดัง หรือถ้าได้นักร้องที่ร้องได้เหมาะมาแล้ว ร้องจนเพลงดังแล้ว แต่พอขึ้นเวทีนักร้องนำเสนอตัวเองได้ไม่เก่งเพลงนั้นก็ไม่รอด เพราะธุรกิจเพลงตอนนี้ ไม่มีค่าส่วนแบ่งจากการขายเทป หรือเสียงรอสายเหมือนในอดีต และจะหวังได้เงินจากโซเชียลอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะมีขั้นตอนและเงื่อนไขมาก ดังนั้นรายได้หลักทางเดียวคืองานจ้างไปแสดง ทุกวันนี้ ค่ายไหทองคำ จึงเฟ้นหานักร้องที่เคลื่อนไหวดี หน้าตาดี หรือมีเอกลักษณ์ มีคาแรกเตอร์และเอ็นเตอร์เทนดี ส่วนเรื่องเสียงร้องสามารถฝึกกันต่อได้ แล้วค่อยมาหาเพลงที่เหมาะสมให้อีกที

นอกจากนี้ ยังเปิดเผย สูตรในการทำให้ผลงานเพลงของค่ายไหทองคำประสบความสำเร็จ ตนจะสอนเด็กๆ ในค่ายเสมอว่าให้รู้จักแชร์งานคนอื่น ไม่ต้องหวงยอด Subscriber ในยูทูปของตนเอง และเล่นโซเชียลด้วยคาแรกเตอร์ของเราเอง


ประจักษ์ชัย ไหทองคำ

เผยเคล็ดลับการปั้นนักร้องดังของประจักษ์ชัย

ขณะเดียวกันต้องทำให้เกิดปรากฎการณ์เพลงดังก่อน โดยประจักษ์ชัย ใช้คำว่า ‘ป่าล้อมเมือง’ คือการให้เด็กๆ ในค่ายไปร้องเพลงตามงานคอนเสิร์ต หรืองานวัดต่างๆ โดยไม่ต้องเรียกค่าตัว ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพจะให้หรือให้แค่ค่ารถก็ได้ ขอแค่ให้มีเวทีแสดงฝีมือก่อน และมีรูปปรากฎอยู่ในป้ายงาน เพื่อให้คนเชื่อและรู้สึกว่าไปที่ไหนก็เจอศิลปินคนนี้ และเมื่อขึ้นเวทีก็ต้องแสดงให้เต็มที่จนคนชอบ และคนมาดูแน่นจนเรียกว่า ‘วิกแตก’ ส่วนค่ายเองก็เฟซบุ๊กไลฟ์ให้คนทั่วไปได้เห็นด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างความนิยมให้ตัวศิลปิน และทำให้เจ้าภาพ หรือคนที่จะว่าจ้างงานเกิดความมั่นใจว่าศิลปินคนนี้มีคุณภาพ เอาคนดูอยู่ ก็จะจ้างงานต่อเรื่อยๆ ถือเป็นการสร้างความคลั่งไคล้ให้ศิลปินโดยใช้ต้นทุนต่ำ หลายคนที่เป็นศิลปินอินดี้มีเพลงดังเป็นร้อยล้านวิวในยูทูบ แต่ต่อยอดไม่เป็น ทุกวันนี้เพลงหรือนักร้องดังไม่เกิน 3 เดือน แล้วก็ไปมีของใหม่มาแทรกแทน

อีกทั้งการเป็นศิลปินที่โด่งดังได้ ต้องมีเพื่อนและมีน้ำใจต่อเพื่อน ช่วยกดไลก์กดแชร์ผลงานกัน ไม่ใช่ตอนที่ยังไม่ดังขอให้เขาช่วย แต่พอดังแล้วก็ไม่กดไลก์ให้ใคร หรือความกตัญญูก็เป็นสิ่งสำคัญ ครูเพลงที่เคยแต่งเพลงให้เราก็ต้องไปช่วยงาน ดีเจต่างจังหวัดที่เคยเปิดเพลงให้พูดเชียร์เราก็ต้องไม่ลืมบุญคุณ หรือแม้กระทั่งหลวงพ่อที่เคยเป่ากระหม่อม เวลามีงานวัดเราก็ต้องไปช่วย และที่สำคัญต้องเสมอต้นเสมอปลาย ยิ่งมีคนรักมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องให้ใจกับพวกเขา ไม่ว่าจะเหนื่อยหรือร้อนแค่ไหน เพราะนั่นคือเกราะกำบังให้เรายังดังอยู่ได้ ทุกวันนี้โซเชียลมันเร็ว ถ้าเราไม่เป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน ถ้าเราประพฤติไม่ดี เขาก็จะแชร์ภาพพวกนี้ออกไป

และปัจจัยสุดท้ายที่ประจักษ์ชัย ทำให้เพลงแต่ละเพลงของค่ายไหทองคำโด่งดัง คือ การไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์เวลามีคนเอาไปร้องหรือโคฟเวอร์ เพราะเขาคิดเสมอว่าต้องการให้เพลงของตนเองไปอยู่ในทุกกลุ่มคนฟังตั้งแต่เด็ก จนถึงคนแก่ แล้วก็ให้เพื่อนฝูงศิลปินหรือค่ายเพลงช่วยกันแชร์ เพราะถ้าเพลงดี แต่ไม่มีคนแชร์เพลงก็ไม่ดัง ขณะเดียวกันการจะโพสต์หรือปล่อยเพลงแต่ละครั้งก็ต้องดูจังหวะหรือกระแสสังคมด้วย เพราะโลกออนไลน์ เพลงต้องแข่งกับคอนเทนต์อื่นอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น กีฬา หรือข่าวอาชญากรรม ทุกวันนี้ทุกคอนเทนต์แข่งขันกันในโลกออนไลน์หมด