ไม่พบผลการค้นหา
องค์การนาซา พบน้ำบนพื้นผิวด้านสว่างของดวงจันทร์ เพิ่มความหวังแผนตั้งอาณานิคมเพื่อภารกิจสำรวจอวกาศในอนาคต

องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซา แถลงถึงการค้นพบน้ำบนพื้นผิวด้านสว่างของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก นับเป็นการค้นพบที่นำไปสู่ความหวังของการตั้งถิ่นฐานระยะยาวเพื่อการวิจัยและสำรวจอวกาศในอนาคต หลังจากที่วงการดาราศาสตร์เกิดคำถามเกี่ยวกับการเกิดน้ำบนสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีอยู่บนผิวดวงจันทร์มายาวนาน

ผลการศึกษาใหม่ 2 ฉบับ ของนาซา ถูกเผยแพร่ผ่านวารสาร Nature Astronomy โดยข้อมูลนี้ได้จากระบบสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศด้วยอินฟาเรด (Stratospheric Observatory for Infrared Astronomy) หรือ SOFIA ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยการใช้เครื่องบินรุ่น 747SP ดัดแปลง บินขึ้นไปบนความสูง 45,000 ฟุต พร้อมด้วยกล้องโทรทัศน์ขนาด 106 นิ้วเพื่อหลีกเลี่ยงไอน้ำจากชั้นบรรยากาศของโลก จนได้ภาพถ่ายที่ชัดที่สุดของโมเลกุลน้ำบริเวณแอ่งคลาเวียส (Clavius Crater)ซึ่งมีพื้นที่ขนาด 15,400 ตารางไมล์และเป็นหนึ่งในหลุมอุกาบาตที่ใหญ่ที่สุดของดวงจันทร์ที่แสงอาทิตย์ส่องถึงและสามารถมองเห็นได้จากโลก

ตามรายงานการค้นพบระบุว่า ปริมาณโมเลกุลน้ำที่พบบนดินของผิวดวงจันทร์นี้ มีเฉลี่ยราว 12 ออนซ์ ต่อเนื้อดินทุก 1 ลูกบากศ์เมตร หรือเท่ากับน้ำดื่มเล็กๆ หนึ่งขวด ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมาก หากเทียบกับโมเลกุลของน้ำที่พบในผิวของทะเลทรายซาฮารายังมีมากกว่า 100 เท่า แต่อย่างไรก็ดี การค้นพบนี้ทำให้มนุษย์ได้ทราบว่า มีโมเลกุลน้ำอยู่บนดวงจันทร์ที่พร้อมถูกนำมาใช้ประโยชน์ในแผนการตั้งถิ่นฐานระยะยาว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อโครงการอาร์เทมิส (Artemis) ที่นาซาวางแผนส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในปี พ.ศ.2567 (2024) 

อย่างไรก็ดี การค้นพบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่นาซาเจอน้ำบนดวงจันทร์ ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแหล่งน้ำบนดวงจันทร์จำนวนหนึ่ง แต่อยู่บริเวณเฉพาะแอ่งหลุมที่บริเวณด้านห่างไกลที่มืดและหนาวเย็นของดวงจันทร์ และอยู่ในรูปแบบของน้ำแข็งที่ยากจะสกัดนำมาใช้ประโยชน์

ที่มา : theguardian / nationalgeographic.com