ไม่พบผลการค้นหา
สื่อท้องถิ่นและนักการทูตเกาหลีใต้ระบุว่า บันคีมูน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เดินทางเยือนเมียนมา ที่ถูกปกครองโดยกองทัพโดยไม่ประกาศล่วงหน้า ในนามของกลุ่มรัฐบุรุษอาวุโส ที่มีส่วนร่วมในการริเริ่มสร้างสันติภาพและสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

การเดินทางมาถึงของบัน ในฐานะรองประธานกลุ่มผู้อาวุโส (The Elders) ในกรุงเนปีดอว์ ได้รับการประกาศเมื่อคืนวันอาทิตย์ (23 เม.ย.) โดย MRTV สถานีโทรทัศน์ของรัฐเมียนมา โดยในรายงานกล่าวว่า บันมาถึงพร้อมคณะผู้แทนกลุ่มเล็กๆ และได้รับการต้อนรับจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและกิจการต่างประเทศของเผด็จการเมียนมา ก่อนที่บันจะเข้าพบกับ มินอ่องหล่ายน์ ผู้นำคณะรัฐประหารเมียนมา

“การเยือนครั้งนี้ของนายบันคีมูนถูกกำหนดโดยกลุ่มผู้อาวุโสทั้งหมด เราไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้” เจ้าหน้าที่สถานทูตเกาหลีใต้บอกกับสำนักข่าว Associated Press เมื่อวันจันทร์ โดยเป็นการกล่าวกับสื่อโดยไม่เปิดเผยชื่อ เพราะแหล่งข่าวไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับสื่อในกรณีดังกล่าว

บันเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ และเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้อาวุโส หรือ The Elders ซึ่งก่อตั้งโดย เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ในปี 2550 และสมาชิกของทางกลุ่มประกอบด้วยผู้นำระดับโลกที่เกษียณจากบทบาททางการแล้วเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ทางกลุ่มยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการเดินทางเยือนเมียนมาของบัน

Global New Light of Myanmar ซึ่งเป็นสื่อของเผด็จการเมียนมา จัดทำรายงานการประชุมของบันกับมินอ่องหล่ายน์ โดยอธิบายว่าการหารือเป็นไปอย่างจริงใจ พร้อมเผยแพร่ภาพของทั้งสองขณะนั่งอยู่บนเก้าอี้ปิดทองโดยมีโต๊ะสีทองเล็กๆ สามโต๊ะคั่นกลาง ยังมีรายงานแยกต่างหากระบุว่า บันเดินทางออกจากเมียนมาผ่านทางช่องทางอากาศในเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีการเปิดเผยรายละเอียดเล็กน้อยเกี่ยวกับการเจรจา แต่ดูเหมือนว่าจะมีการพูดคุยในประเด็นวิกฤตการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ของเมียนมา

นอกจากนี้ บันยังได้พบกับ เต็งเส่ง อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลกึ่งพลเรือน แต่บันไม่ได้เข้าพบกับ อองซานซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถูกจำคุกตั้งแต่มินอ่องหล่ายน์เข้ายึดอำนาจในเดือน ก.พ. 2564 ขณะบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ และได้พบกับเต็งเส่งและอองซานซูจีในขณะนั้น

เมียนมาตกอยู่ในความวุ่นวายนับตั้งแต่การรัฐประหาร ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ที่กำลังจะเริ่มขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 หลังได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ทั้งนี้ การยึดอำนาจของกองทัพนำไปสู่การประท้วงจำนวนมาก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นการต่อต้านด้วยอาวุธอย่างกว้างขวาง หลังจากกองทัพเมียนมาปราบปรามจนมีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 3,400 ราย

มีความพยายามไกล่เกลี่ยสันติภาพจากภายนอก ซึ่งปัจจุบันนำโดยสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งกองทัพเมียนมาเห็นชอบกับแผน 5 ประการเพื่อยุติความรุนแรงในเดือน เม.ย. 2564 แต่ไม่ประสบกับผลสำเร็จ

กองทัพเมียนมาเรียกผู้ที่ต่อต้านการปกครองส่วนใหญ่ว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" และได้ควบคุมตัวฝ่ายตรงข้ามหลายพันคน ทั้งนี้ กองทัพให้คำมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปีนี้ แต่พรรค NLD และพรรคอื่นๆ กลับถูกยุบพรรคลง หลังจากที่ไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ภายใต้กฎหมายการเลือกตั้งใหม่ที่ร่างขึ้นโดยนายพล ทั้งนี้ นักวิจารณ์กล่าวว่า การเลือกตั้งเมียนมาที่อาจมีขึ้นในครั้งต่อไป ไม่น่าจะได้รับการดำเนินการอย่างเสรีหรือยุติธรรม


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/24/ex-un-secretary-general-ban-ki-moon-on-surprise-myanmar-trip?fbclid=IwAR3goTQAxGuz88AAKfhpj3nAXo9eRonEYT9Bvtg6Sz7hSDXBa9flIoJ0b90