งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปี 2563 ชี้ว่า เทือกเขาหิมาลัยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยช่วงระหว่างปี 2546-2553 ธารน้ำแข็งที่ละลายได้สร้างทะเลสาบธรรมชาติในเทือกเขาหิมาลัยบริเวณรัฐสิกขิมของอินเดีย ซึ่งไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดแอ่งน้ำ ธารน้ำแข็งที่ละลายยังสร้างรอยแยกบนภูเขาด้วยเช่นกัน
รอยแยกและมวลน้ำที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่ำกว่า และยังมีการพัดพาหินต่างๆ ที่เดิมฝังอยู่ใต้น้ำแข็งลงมายังข้างล่างจนเกิดเป็นสันดอนตามธรรมชาติ
งานวิจัยดังกล่าวยังประเมินว่าทะเลสาบกว่า 5,000 แห่งในบริเวณเทือกเขาหิมาลัยนั้นมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหินที่ฝังอยู่ใต้น้ำแข็งนั้นกำลังเบาบางลงและก่อให้เกิดปรากฎการณ์ธารน้ำแข็งล้น หรือ GLOFs ซึ่งจะก่อให้เกิดการระเบิดและน้ำจำนวนมหาศาลไหลลงสู่พื้นที่ต่ำกว่า
ในปี 2537 ปรากฎการณ์ธารน้ำแข็งล้นได้ส่งผลให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในภูฏาน มวลน้ำมหาศาลจากธารน้ำแข็งที่ล้นออกมาไหลเข้าท่วมทำลายหมู่บ้านประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโพชู และเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 21 ราย ทำลายพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชนเสียหายอย่างร้ายแรง และยังกวาดปลาในแม่น้ำให้สูญหายเป็นจำนวนมาก
'คาร์มา ทูพู' ผู้อำนวยการศูนย์อุทกวิทยาและอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติภูฎาน (NCHM) กล่าวว่า เนื่องด้วยสภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ธานน้ำแข็งกำลังละลาย และน้ำจำนวนมหาศาลไหลลงสู่พื้นที่ต่ำกว่าอย่างรวดเร็ว ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า ‘สินามิจากฟ้า’ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
“ประชาชนภูฎานกว่า 70% นั้นอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งหากเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว น้ำจำนวนมหาศาลไหลลงมาจากภูเขาจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก” ทูพูกล่าว
NCHM วิเคราะห์ว่า ทะเลสาบธารน้ำแข็งจำนวน 2,674 แห่งใน 17 แห่งถูกจัดให้มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะหากธารน้ำแข็ง 700 แห่งละลายและก่อให้เกิดทะเลสาบจำนวนมากที่จะสร้างความเสี่ยงอันตรายต่อประชากรและโครงสร้างพื้นฐานในภูฏานเพิ่มยิ่งขึ้น
ด้าน 'โลเท เชอร์ริง' นายกรัฐมนตรีภูฏานกล่าวว่า ผลกระทบจากธารน้ำแข็งละลายนั้นสร้างผลกระทบทั้งทางกายภาพและทางจิตวิญญาณแก่ชาวภูฏานเป็นอย่างมาก โดยนายกรัฐมนตรีภูฏานให้คำอธิบายว่า ภูเขาน้ำแข็งและทะเลสาบสำหรับชาวภูฏานนั้น ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวภูฏานเคารพเประดุจเทพเจ้า
“ธารน้ำแข็งที่หายไป จะหายไปตลอดกาล จะมีกี่ชีวิตที่ไม่เพียงแต่มนุษย์ แต่รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ที่พึ่งพิงกับธารน้ำแข็งเหล่านี้ พวกเราเคารพธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงพวกเรากำลังสูญเสียธารน้ำแข็งให้แก่สภาวะโลกร้อน” นายกรัฐมนตรีภูฏานกล่าว
อุณหภูมิที่บันทึกไว้ในเมื่อปีพ.ศ 2562 ชี้ว่า ทะเลสาบธารน้ำแข็งในภูฏานหลายแห่งกำลังตกอยู่ในอันตราย ขณะที่ฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นและฤดูหนาวที่ไม่มีหิมะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธารน้ำแข็งในภูฏานลดลง รวมถึงฝนที่ตกหนักบนเทือกเขาหิมาลัยก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพการรองรับน้ำในทะเลสาบของภูฏานเช่นกัน
ปัจจุบันภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ติดลบและมีการรณรงค์ป้องกันเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและสภาวะโลกร้อนอย่างหนัก ซึ่งรัฐธรรมนูญของภูฏานมีการบัญญัติการคุ้มครองธรรมชาติและการสร้างกำไรเศรษฐกิจ โดยอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องไม่ขัดต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธรรมชาติอของภูฏาน
ที่มา CNA
ข่าวที่เกี่ยวข้อง