นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมาย กล่าวถึงกรณที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่นายวิษณุ ได้เปิดเผยรายชื่อทั้ง 9 คนเมื่อวานนี้และจำนวน 5 คนใน 9 รายชื่อ เป็น ส.ว.เสียเองจะทำให้การสรรหา ส.ว.เป็นโมฆะหรือว่า ยืนยันว่าไม่เป็นโมฆะอย่างแน่นอน เพราะคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ทั้ง 5 คน ที่ได้เป็น ส.ว.ไม่ได้อยู่ร่วมในระหว่างที่มีการคัดเลือก เพราะผ่านการพิจารณาจากบุคคลอื่น
ส่วนคำสั่งคสช.ที่ 1/2562 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เป็นคำสั่งเฉพาะไม่ใช่กฏหมาย จึงไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะเป็นขั้นตอนภายในไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน แต่หากการสรรหาเป็นการเปิดรับสมัครถึงจะมีการประกาศ แตกต่างจากการสรรหา โดยไม่มีผลทางกฎหมาย และยืนยันว่าการประกาศคำสั่งต่างๆ ที่เป็นเรื่องภายในไม่จำเป็นต้องประกาศให้ประชาชนรับทราบมนทุกเรื่อง ส่วนกรณีที่หากมีคนร้องเรียนสามารถทำได้
ทั้งนี้ หากมีการนำเรื่องการสรรหา ส.ว.ไปอภิปรายในสภาจะสามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับประธานสภาผู้แทนราษฎร และหากมีการอภิปรายคงไม่มีใครเป็นผู้ชี้แจง เนื่องจากเป็นขั้นตอนของ คสช. ที่กำลังจะหมดวาระลงหลังจากมีคณะรัฐมนตรี แม้ตัวบุคคลยังคงอยู่แต่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับ คสช.แล้ว
คาด ครม. ชุดใหม่อาจไม่ทันประชุมอาเซียน ให้เป็นเรื่องรัฐบาลชุดเก่า
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกรณีความคืบหน้าขั้นตอนการยื่นทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการ ตนไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่จากประสบการณ์สมัยที่เคยทำหน้าที่นี้มา โดยปกตินายกฯจะพูดคุยกับพรรคการเมือง ซึ่งได้เริ่มพูดคุยตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมาแล้ว หลังจากนี้หากพูดคุยกันแล้วเสร็จจะส่งรายชื่อครม.ชุดใหม่ให้เลขาฯครม.ตรวจสอบประวัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่ส่วนที่ยุ่งยากเรื่องหุ้น สัมปทาน และประวัติการต้องโทษ ที่ต้องใช้เวลา เพราะจะฟังแต่เจ้าตัวพูดไม่ได้ ต้องหาเบาะแสและประสานกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ ศาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อตรวจสอบ จึงตอบไม่ได้ว่าแล้วเสร็จเมื่อไหร่เพราะต้องใช้เวลา
ส่วนกรณีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะได้ ครม.ชุดใหม่หลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนว่า หากพูดด้วยความจริงไม่ใช่หมอดูหรือการคาดการณ์ และไม่ได้พูดถึงวิชามาร หากส่งรายชื่อครม.ชุดใหม่ได้ในวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.) ก็อาจใช้เวลาตรวจสอบในช่วงวันที่ 15-17 มิ.ย. จากนั้นในวันที่ 18 มิ.ย. ก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันที ซึ่งตนพูดตามขั้นตอนไม่บอกว่าจะเป็นไปตามนี้ และเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ครม.ชุดใหม่แล้วก็ต้องมีการถวายสัตย์ปฏิญาณตน
ดังนั้นจึงก็ไม่ทันการประชุมสุดยอดอาเซียน และต้องเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดเก่าและรัฐมนตรีคนเก่าที่จะเข้าร่วมประชุม เพราะว่าแม้จะมีการประกาศรายชื่อครม.ชุดใหม่ออกมาก่อน แต่ยังทำงานไม่ได้ ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลและไม่อดีตก็ไม่เคยมี แต่มีกรอบเวลาภายหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณตน ที่ต้องถวายนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน
"วิษณุ" ให้เป็นดุลยพินิจศาล กรณี 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ
ทั้งนี้ นายวิษณุ ยังไม่ทราบรายละเอียด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งชื่อ 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยให้ขึ้นกับดุลยพินิจศาล จะใช้มาตรฐานเดียวกับธนาธรหรือไม่ เชื่อ ส.ส.ส่วนใหญ่อาจถือหุ้นแตกต่างคนละประเด็นกับธนาธร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง