นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 7/2567 วันนี้ (29 ตุลาคม 2567) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าการยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฎกรรมเหมือนกรณีรถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จึงมีมติให้กำหนดนโยบายเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กและเยาวชน 3 ด้าน คือ
1. ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน อาทิ การจัดการระบบรถรับ-ส่งนักเรียน การมีระบบดูแลกำกับจัดการความปลอดภัยของรถทัศนศึกษา และนำระบบและเทคโนโลยีเข้ามาตรวจสอบดูแลให้เกิดความปลอดภัย
2. ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยในเด็กและเยาวชน ที่ยังมีความจำเป็นต้องเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์
3. ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เรื่องวินัยจราจรและความปลอดภัยในสถานศึกษา
“ประเทศไทย สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งวิถีชีวิตของคน และคนที่ต้องกลายเป็นคนพิการ เฉพาะปี 2566 ปีเดียว ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 17,498 ราย ค่ารักษากว่า 10,315 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาทต่อปี พวกเราทุกคนร่วมกันหยุดยั้งความสูญเสียนี้ได้ โดยเน้นให้ สสส. ทำงานส่งเสริมป้องกันให้เกิดความปลอดภัยทางถนน และมีการทำงานบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน หากทุกท้องถิ่นมีแผนการทำงานเชิงป้องกัน เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ก็จะดูแลความปลอดภัยของเด็กทุกระดับ ช่วยรักษาอนาคตของชาติไว้ เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวว่า การจัดตั้งสถาบันหรือหน่วยงานกลางทางวิชาการ ทำหน้าที่สอบสวนสาเหตุอุบัติเหตุสำคัญ และเสนอแนะแนวทางเชิงป้องกันและแก้ไข ส่งถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นอีกแนวทางจะช่วยได้ ซึ่งมีบทเรียนในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เช่น สวีเดน จัดตั้ง SWEROADS ประเทศอังกฤษ มีสถาบัน Transport Research Laboratory: TRL และประเทศเนเธอร์แลนด์ มีสถาบัน SWOV: Institute for Road Safety Research รวมถึง มาเลเซีย รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ได้จัดตั้งสถาบัน MIROS: Malaysian Institute of Road Safety Research เพื่อเป็น ‘หน่วยงานวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน’ ในการวิจัย ประเมินผล สอบสาเหตุอุบัติเหตุสำคัญ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อลดความสูญเสียอย่างชัดเจนและรวดเร็ว
นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า จากการประชุมร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ทราบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงขอให้ สสส. บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ปัญหา โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ และการสื่อสารให้เด็กและเยาวชนตระหนักรู้และเข้าใจถึงโทษของการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวสนับสนุนการให้ สสส.บูรณาการการทำงานร่วมกับ สช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันและแก้ปัญหาอัตราการเพิ่มจำนวนการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส่วนประกอบของบุหรี่ไฟฟ้าล้วนเป็นสารที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยตรงอย่างรุนแรงต่ออวัยวะในร่างกาย เช่น สารฟอร์มัลดีไฮด์ หรือ น้ำยาดองศพ สารหนู โลหะหนัก ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้น การรณรงค์ป้องกันและแก้ปัญหา ขอให้ สสส. มุ่งเน้นไปที่การสร้างการตระหนักรู้ในเด็กและเยาวชน รวมถึงการรณรงค์ให้เกิดสื่อสารให้เข้าใจถึงอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปี 2566 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 17,498 คน คิดเป็น 26.86 คนต่อแสนประชากร ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 10-19 ปี ถือเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตสูง เฉลี่ยปีละ 2,693 คน โดยเสียชีวิตทั้งจากการเดินเท้า, การใช้รถจักรยานยนต์, รถรับ-ส่งนักเรียน และรถทัศนศึกษา ที่ผ่านมา สสส. ขับเคลื่อนกิจกรรมด้านความปลอดภัยบนถนนร่วมกับสถาบันการศึกษา เร่งปลูกจิตสำนึกของความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เน้นที่การส่งเสริมค่านิยมสวมหมวกนิรภัย 100% ขับรถโดยใช้ความเร็วที่ปลอดภัย ไม่ขับเร็ว ดื่มไม่ขับ อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนร่วมมือกันลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลง เพราะเด็กและเยาวชน คือกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ