ต้นกำเนิดตุ๊กตาบาร์บี้ (Barbie Doll) มาจากฝีไม้ลายมือของ รูธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) ผู้ร่วมก่อตั้งแมทเทล (Mattel) บริษัทผลิตของเล่นสัญชาติอเมริกา เมื่อแฮนด์เลอร์พบว่า บาร์บาร่า แฮนด์เลอร์ (Barbara Handler) ลูกสาวของเธอมีของเล่นจำกัดจำเขี่ย และมักจะมอบบทบาทให้ตุ๊กตากระดาษเสมอ จนกระทั่งเมื่อแฮนด์เลอร์มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ และเกิดไอเดียการสร้างสรรค์ตุ๊กตาแบบใหม่ขึ้นมา ส่วนความเป็นมาของชื่อ ‘บาร์บี้’ ก็เป็นการดัดแปลงมาจาก ‘บาร์บาร่า’ นั่นเอง
ไม่น่าเชื่อว่า นับแต่ปี 1959 บาร์บี้เป็นของเล่นที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามตั้งแต่วางจำหน่าย โดยทำยอดขายได้มากถึง 300,000 ตัวในช่วงปีแรก และแม้จะเกิดการแข่งขันรุนแรงในอุตสาหกรรมของเล่น ทว่าในแต่ละปีบาร์บี้ก็ยังสามารถทำยอดขายมากถึง 58 ล้านตัว กระจายตัวไปมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก รวมยอดขายแล้วกว่า 1,000 ล้านตัว
นาธาน เบย์นาร์ด (Nathan Baynard) ผู้อำนวยการด้านการตลาดของบาร์บี้ กำลังเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจสำหรับการครบครอบ 60 ปีบริบูณณ์ครั้งนี้ เขามองว่าอุตสาหกรรมในปัจจุบันสามารถประสบความสำเร็จได้เพียง 3-5 ปี ดังนั้น ตัวเลข 60 ปี จึงเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก
เบย์นาร์ดบอกว่า จุดประสงค์ของบาร์บี้คือ ‘สอนเด็กผู้หญิง’ ซึ่งสามารถทำให้บาร์บี้เป็นอะไรก็ได้ นับเป็นไอเดียที่สุดขีดมากในปี 1959
ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน บาร์บี้ถือกำเนิดด้วยภาพลักษณ์สมบูรณ์แบบทั้งเอวคอดกิ่ว สะโพกผาย หน้าอกหน้าอวบอิ่ม และต้นขาที่เรียวยาวเป็นพิเศษ ซึ่ง คาร์ไลน์ นูเอรา (Carlyle Nuera) นักออกแบบของแมทเทลให้เหตุผลว่า บาร์บี้ถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่เกินจริง เพื่อให้เข้ากับสุนทรียศาสตร์ และเสื้อผ้าในอดีต
แม้ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา บาร์บี้จะถูกวิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์จนบริษัทแมทเทลต้องออกมาแก้ต่าง รวมถึงเปลี่ยนโฉมให้เหมือนกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่ เอ็ม. จี. ลอร์ด (M. G. Lord) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Forever Barbie’ บอกว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวตุ๊กตา และคำวิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์ไม่เป็นเหตุเป็นผล
ลอร์ดมองว่า บาร์บี้เป็นอะไรก็ได้ที่เด็กอยากให้เป็น ส่วนเด็กจะมองตุ๊กตาตัวนี้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่า แม่ของเด็กคนนั้นมองผู้หญิงแบบไหน ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่ตุ๊กตาขนาด 11.5 นิ้ว แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรม และแนวคิดความเป็นหญิงต่างหาก