อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยในความปลอดภัยของเด็กสืบเนื่องจากข้อมูลอุบัติภัยในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานว่าในแต่ละปีมีเด็กไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุประมาณ 3,000-4,000 คน ทั้งจากการจมน้ำ อุบัติเหตุทางถนน และไฟฟ้าดูด โดยมีสาเหตุจากความซุกซน และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก นายกรัฐมนตรีจึงฝากความห่วงใยมาถึงเด็ก ๆ ทุกคน โดยขอให้ผู้ปกครองและครอบครัวช่วยกันดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเน้นย้ำให้ผู้ปกครองต้องเตรียมตัวก่อนพาบุตรหลานเที่ยวงานวันเด็กเพื่อความปลอดภัย
“นายกรัฐมนตรีฝากความห่วงใยมาถึงเด็ก ๆ ทุกคน พร้อมขอให้ผู้ปกครองและครอบครัว ช่วยกันดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สร้างสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กให้ปลอดภัย สอนเด็กให้เรียนรู้วิธีป้องกันอุบัติภัย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับเด็กได้ และในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566 นี้ หลายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเป็นปีแรกภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ซึ่งจะมีผู้ปกครองจำนวนมากพาบุตรหลานออกมาเที่ยวงานวันเด็ก ดังนั้น จึงขอย้ำให้ผู้ปกครองต้องเตรียมตัวก่อนพาบุตรหลานเที่ยว โดยควรบันทึกรูปพรรณของบุตรหลาน ส่วนสูง น้ำหนัก สีเสื้อผ้า ทำป้ายชื่อและเบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้ ให้ถ่ายรูปล่าสุดพร้อมชุดที่เด็กสวมใส่ก่อนออกจากบ้าน เน้นย้ำกับเด็ก ๆ หากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไปให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ รวมทั้งให้นัดแนะจุดนัดพบหากเกิดการพลัดหลง และให้เด็กแจ้งขอความช่วยเหลือ โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ปี ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด จึงขอให้ผู้ปกครองได้เตรียมความพร้อม เพื่อให้เด็ก ๆ มีความสุขกับการร่วมกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติได้อย่างปลอดภัย” นายอนุชาฯ กล่าว
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เตือนอุบัติภัยที่มักก่อให้เกิดอันตรายกับเด็ก และมีข้อแนะนำการดูแลเด็ก ดังนี้ 1. อุบัติภัยจากการจมน้ำ ไม่ให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง เช่น เล่นน้ำในอ่างน้ำ ถังน้ำ หรืออาบน้ำในห้องน้ำ ควรดูแลเด็กในขณะเล่นน้ำอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เด็กเล่นใกล้แหล่งน้ำ เพราะเด็กอาจลื่นตกน้ำทำให้จมน้ำเสียชีวิต ให้เด็กสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ท่องเที่ยวทางน้ำและว่ายน้ำ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะช่วยพยุงตัวเด็กไม่ให้จมน้ำ
2. อุบัติภัยจากไฟฟ้า ควรติดตั้งปลั๊กไฟให้พ้นมือเด็ก โดยติดตั้งให้สูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร หากปลั๊กไฟอยู่ในระดับต่ำ ควรหาที่ครอบปลั๊กไฟ เพื่อป้องกันเด็กเล่นปลั๊กไฟ ทำให้ถูกไฟฟ้าดูด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังบริเวณที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า หลังจากใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสร็จแล้ว ให้ถอดปลั๊กเครื่องไฟฟ้าและจัดเก็บให้พ้นมือเด็ก 3. อุบัติเหตุทางถนน การพาเด็กเดินถนน ให้เด็กเดินชิดด้านในของถนนหรือบนฟุตบาท พร้อมจูงมือเด็กให้แน่น ไม่พาเด็กเดินบนถนน เพื่อป้องกันเด็กถูกรถเฉี่ยวชน การพาเด็กข้ามถนน พาเด็กข้ามตรงทางม้าลาย สะพานลอยหรือบริเวณที่มีสัญญาณไฟจราจร โดยมองด้านซ้ายและขวา ให้แน่ใจว่าปลอดภัย จึงค่อยพาเด็กข้ามถนน 4. การนำเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์ ให้เด็กสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานและมีขนาดพอดีกับศีรษะ ไม่นำเด็กเล็กโดยสารรถจักรยานยนต์ เพราะเด็กอาจพลัดตกจากรถ และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และ 5. การนำเด็กโดยสารรถยนต์ ให้เด็กนั่งที่นั่งสำหรับเด็ก (Car Seat) บริเวณตอนกลางของเบาะหลังรถ ไม่ควรนำเด็กนั่งตักขณะขับรถเพราะส่งผลต่อสมรรถนะและสมาธิในการขับรถ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
นอกจากนี้ อนุชา กล่าวว่าในช่วงวันหยุด ผู้ปกครองมักจะพาเด็กไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งความซุกซนของเด็ก และการไม่ดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอุบัติเหตุ ซึ่ง ปภ. มีคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการพาเด็กท่องเที่ยวปลอดภัย ลดเสี่ยงอันตราย ดังนี้
1. สวนสนุก ควรเล่นเครื่องเล่นที่เหมาะสมกับวัย ขนาดและรูปร่างของเด็ก ไม่เล่นเครื่องเล่นที่เสี่ยงอันตราย ใช้อุปกรณ์นิรภัยทุกครั้งที่เล่นเครื่องเล่น
2. สวนน้ำ เลือกใช้บริการสวนน้ำที่มีมาตรฐาน และมีอุปกรณ์ช่วยชีวิต ใช้อุปกรณ์ชูชีพทุกครั้งเมื่อประกอบกิจกรรมทางน้ำ ดูและการเล่นน้ำของเด็กอย่างใกล้ชิดในระยะที่มองเห็นและเข้าถึงเด็กได้ทันที
3. สวนสัตว์ ปฏิบัติตามคำแนะนำและป้ายเตือนอย่างเคร่งครัด ไม่ให้เด็กเข้าใกล้ หรือยื่นแขน ขา เข้าไปในกรงสัตว์ ไม่ป้อนอาหารสัตว์ หรือแหย่สัตว์ให้หงุดหงิด
4. ห้างสรรพสินค้า ไม่ให้เด็กวิ่งเล่นบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ไม่ให้เด็กขึ้น-ลงบันไดเลื่อนตามลำพัง ควรอุ้มแทนการจูงมือ ไม่ให้เด็กปีนป่ายหรือเอานิ้วแหย่ตามช่องต่าง ๆ ของบันไดเลื่อน