รายงานชิ้นล่าสุดจากอ็อกแฟม องค์กรระหว่างไม่แสวงผลกำไร ภายใต้ชื่อ 'ถึงเวลาที่ต้องใส่ใจ' ที่ตีพิมพ์ในวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. สะท้อนว่า มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกจำนวน 2,153 คน มีมูลค่าความร่ำรวยและมั่งคั่งรวมมากกว่าประชากรทั่วโลกอีกกว่า 4,600 ล้านคน
รายงานเปรียบเทียบว่า "ถ้าประชากรชนชั้นกลางในประเทศที่ร่ำรวยนั่งอยู่บนความสูงของเก้าอี้ตัวหนึ่ง คนที่รวยที่สุดในโลก 2 อันดับแรกคงอยู่นอกอวกาศ"
นอกจากนี้ รายงานยังชี้ว่า ถ้ามนุษย์คนหนึ่งสะสมเงินมูลค่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 303,000 บาท ต่อวัน มาตั้งแต่สมัยมีการก่อสร้างพีระมิดของอียิปต์ เขาคนนั้นก็ยังมีความมั่งคั่งน้อยกว่าบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 5 อันดับแรกในปัจจุบันถึงร้อยละ 80
รายงานยังพบว่า บุคคลที่รวยที่สุดในโลกร้อยละ 1 มีมูลค่าความมั่งคั่งมากกว่า 2 เท่าของความมั่งคั่งของประชากรโลกรวมกัน ทั้งยังสะท้อนความกังวลเรื่องงานที่ผู้หญิงต้องรับภาระแต่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ที่คิดเป็นมูลค่าถึง 10.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 328 ล้านล้านบาท ต่อปี
'ระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลว'
ในรายงานฉบับนี้ อ็อกแฟมออกมาเรียกให้ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกเพิ่มอัตราการเก็บภาษีกับมหาเศรษฐีขึ้นร้อยละ 0.5 ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า เพื่แลดความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งลง โดยชี้ว่า การเพิ่มอัตราภาษีร้อยละ 0.5 จะเพียงพอต่อการสร้างงานกว่า 117 ล้านตำแหน่ง ในอุตสาหกรรมหลากหลาย อาทิ การศึกษา และ สาธารณสุข
นอกจากนี้ รายงานยังสนับสนุนการบรรเทาความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ เช่น ระบบสาธารณสุขแห่งชาติ ความลำบากของการเหยียดเพศ การเขียนกฎหมายดูแลสิทธิด้านอาชีพการงาน รวมไปถึงการยุติความร่ำรวยที่มากเกินไป
รายงานอธิบายว่า ความร่ำรวยที่มากเกินไป (Extreme wealth) เป็นสัญญาณสะท้อนระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ทั้งยังบอกว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำลงและหันมาให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนมากกว่าการเติบโตหรือผลกำไรที่ไม่ยั่งยืน งานวิจัยยังสะท้อนว่ารัฐบาลหลายแห่งในโลกนี้ยังทำหน้าของตัวเองไม่ดีพอ
เงินในกระเป๋ามหาเศรษฐี
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานตัวเลขทรัพย์สินของมหาเศรษฐี 3 อันดับแรกของโลก ภายในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี 20 อันดับแรกของโลก เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จาก 6.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 20 ล้านล้านบาท ในปี 2555 มาเป็น 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 43 ล้านล้านบาท
อ้างอิง; CNBC, CNN, Bloomberg, Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;