วันนี้ (3 เมษายน 2568) เวลา 15.30 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ นายนเรนทร โมที (H.E. Mr. Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีอินเดียได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีอินเดียไปยังห้องสีม่วงเพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรี และไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน หลังจากนั้น เวลา 15.45 น. นายกรัฐมนตรีทั้งสองร่วมหารือข้อราชการเต็มคณะ ณ ตึกภักดีบดินทร์ โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีอินเดียและคณะในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 พร้อมทั้งชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียที่มีความใกล้ชิดมายาวนาน โดยตลอดระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษของความสัมพันธ์ทางการทูต ไทยและอินเดียมีความร่วมมือขยายครอบคลุมทุกสาขา ซึ่งนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกัน อันเป็นผลลัพธ์สำคัญของการเยือนในครั้งนี้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลอินเดียที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระอัครมหาสาวกมาประดิษฐานที่ไทยเป็นการชั่วคราว ซึ่งมีชาวไทยมาสักการะมากกว่า 4 ล้านคน สะท้อนถึงความสำคัญของพุทธศาสนาซึ่งเป็นหลักเชื่อมโยงประชาชนของทั้งสองประเทศ
นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าวในนามรัฐบาลและประชาชนชาวอินเดีย ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในไทย และขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลไทยและประชาชนคนไทย พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีอินเดียขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียที่มีความเข้มแข็งมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในระดับประชาชน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีความร่วมมือระหว่างกันที่ใกล้ชิดในหลายมิติ โดยนายกรัฐมนตรีอินเดียเห็นว่า ไทยและอินเดียมีแนวนโยบายที่สอดคล้องกัน ซึ่งสามารถเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก พร้อมทั้งแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของไทยในฐานะประธานบิมสเทค ซึ่งภายใต้การเป็นประธานของไทย บิมสเทคมีข้อริเริ่มและโครงการใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยเชื่อมั่นว่า การดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 จะนำทิศทางและแรงผลักดันใหม่ให้กับบิมสเทค โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีอินเดียยังได้เชิญนายกรัฐมนตรีเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมพิจารณาเยือนอินเดียในโอกาสแรก
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ดังนี้
1) การทหารและความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีที่กลไกความร่วมมือด้านการทหารระหว่างไทยกับอินเดียมีพัฒนาการที่สำคัญ โดยไทยพร้อมต่อยอดความร่วมมือไปยังสาขาใหม่ ๆ เพิ่มเติม อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และอวกาศ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยมีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย ผลิตอาวุธ และซ่อมบำรุงในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอินเดีย ผ่านการจัดตั้ง Joint Working Group on Defense Industry โดยเร็ว เพื่อผลักดันความร่วมมือในด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดียต้องการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการลาดตระเวนในช่องแคบมะละกา ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการเข้าร่วมลาดตระเวนฯ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศอื่น ๆ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเดิมไทยเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ และต่อมาในปี ค.ศ. 2009 ถึงได้เข้าร่วมการฝึกอย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ การลักลอบขนยาเสพติด และการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ชื่นชมนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของอินเดียที่ครอบคลุม และต้องการกระชับความร่วมมือกับอินเดียเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ผ่านกลไกทวิภาคีและพหุภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งฝ่ายอินเดียพร้อมร่วมมืออย่างเต็มที่
2) เศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ไทยและอินเดียยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกันได้อีกมาก โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายอินเดียพิจารณาผ่อนปรนมาตรการการนำเข้าสินค้า เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าระหว่างกัน โดยสินค้าหลายประเภทของไทยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตสินค้าซึ่งสนับสนุนนโยบาย Make in India ของอินเดีย พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้มีการยกระดับกลไกการหารือด้านการค้า โดยเฉพาะการยกระดับการประชุม Joint Trade Committee เป็นระดับรัฐมนตรี การพิจารณาปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีไทย – อินเดีย และความตกลง ASEAN – India Trade in Goods ให้ครอบคลุมสินค้ามากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและส่งเสริมห่วงโซ่การผลิตระหว่างกัน รวมถึงสนับสนุนให้มีการจัด India – Thailand Joint Business Forum (ITJBF) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีให้ภาคเอกชนสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวนนักลงทุนอินเดียให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งอินเดียมีความเชี่ยวชาญ พร้อมขอให้ฝ่ายอินเดียให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในอินเดียด้วย
3) ความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า อินเดียเป็นประเทศหุ้นส่วนสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะโครงการถนนสามฝ่าย ไทย – เมียนมา – อินเดีย (India - Myanmar - Thailand Trilateral Highway Project) ซึ่งทั้งสองฝ่ายพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ และสำหรับการเชื่อมโยงทางทะเล ไทยมีโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะสร้างความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมทางทะเล เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนอินเดียมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนที่จะพัฒนาท่าเรือระนอง ให้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าหลักเชื่อมต่อท่าเรือทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งจะสนับสนุนความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC ที่จะลงนามในวันพรุ่งนี้ให้บรรลุผลเป็นรูปธรรม
ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดียเน้นย้ำว่า ภาคเอกชนอินเดียต้องการมีส่วนร่วมในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย และพร้อมร่วมกับฝ่ายไทยผลักดันการเชื่อมโยงระบบจ่ายเงินออนไลน์ระหว่าง UPI ของอินเดียกับพร้อมเพย์ของไทย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ
4) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยมองอินเดียเป็นต้นแบบของการสร้างระบบนิเวศสำหรับการฟูมฟักสตาร์ทอัพ และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายระหว่างสตาร์ทอัพของทั้งสองประเทศ พร้อมหวังว่าจะมีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่อินเดียมีความเชี่ยวชาญ เช่น ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม AI และอวกาศ ซึ่งอินเดียมีความก้าวหน้าในด้านนี้ และไทยต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกันต่อไป
5) สังคมและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและอินเดียมีการแลกเปลี่ยนด้านสังคมและวัฒนธรรมระหว่างกันที่ใกล้ชิด โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ชุมชนชาวไทยเชื้อสายอินเดียมีส่วนสำคัญและเป็นรากฐานต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เยาวชนไทยให้ความสนใจเกี่ยวกับอินเดียมากขึ้น มีการตั้งศูนย์อินเดียศึกษาทั้งที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และตามภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงมีนักเรียนไทยกำลังศึกษาในอินเดียประมาณ 600 คน ในสถาบันการศึกษาชั้นนำ ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดียเห็นว่า ไทยและอินเดียมีมรดกวัฒนธรรมทางภาษาและพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายควรสืบสานและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับประโยชน์จากมรดกเหล่านี้
6) การท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (Tourist Assistance Center: TAC) เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทั่วประเทศ พร้อมทั้งยินดีที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกลไก Consular Dialogue เพื่อการคุ้มครองดูแลประชาชนซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ไทยและอินเดียยังสามารถเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวระหว่างกันได้มากขึ้น ผ่านการขยายเที่ยวบินไปยังเมืองอื่น ๆ ของไทยและอินเดียมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนกองถ่ายทำภาพยนตร์และโฆษณาจากอินเดียให้ใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ และใช้บริการขั้นหลังการผลิต (Post Production) ที่มีคุณภาพในราคาย่อมเยาของไทย
ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดียยินดีที่ไทยและอินเดียมีการแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวที่ใกล้ชิด และทั้งสองฝ่ายมีมาตรการที่สนับสนุนการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยไทยมีการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ขณะเดียวกัน อินเดียได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยว (e-Tourist visa) ให้แก่นักท่องเที่ยวไทยเช่นกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีอินเดียพร้อมสนับสนุนข้อเสนอของไทยในการขยายเที่ยวบินไปยังเมืองอื่นของไทยและอินเดียมากขึ้น และยินดีที่ไทยพร้อมมีส่วนร่วมในการพัฒนาและขยายเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนา (Buddhist Circuit) ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ
7) ความร่วมมือในกรอบอาเซียน ไทยพร้อมร่วมมือกับอินเดีย ผ่านกรอบอาเซียน – อินเดียในหลายสาขา ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ AI การศึกษา และเทคโนโลยีอวกาศ พร้อมเพิ่มพูนการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันในภูมิภาค ผ่านการเจรจาการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดียภายในปีนี้ นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของอินเดียในการฉลองให้ปีนี้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวอาเซียน – อินเดีย ซึ่งไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “ASEAN – India Forum: Journey of Opportunities” รวมถึงการจัดฝึกอบรมภาษาฮินดีให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของไทยและอาเซียน
ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งไทยและอินเดียต่างมีพรมแดนติดกับเมียนมา โดยต่างต้องการเห็นเมียนมาที่มีความสงบสุข มั่นคง และเป็นปึกแผ่น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยและอินเดียในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาโดยเร่งด่วนแล้ว ซึ่งในระยะต่อไปทั้งสองประเทศสามารถร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอย่างยั่งยืนต่อไป โดยหนึ่งในความช่วยเหลือที่จะเกิดประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดคือ โครงการถนนสามฝ่าย ไทย – เมียนมา – อินเดีย ที่จะช่วยฟื้นฟูและส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย อินเดีย และเมียนมา ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดียสนับสนุน ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน เพื่อยุติความขัดแย้งในเมียนมา